ศ.จิน อะคิยาม่า รองประธานมหาวิทยาลัยโตเกียวและผอ.ศูนย์วิจัยการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ปาฐกถาพิเศษ “บ่มเพาะเด็กอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ IQ สูง สู่การเป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 (The 15th Asia-Pacific Conference on Giftedness 2018: APCG2018)
จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก.ศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆ นี้
ศ.อะคิยาม่า กล่าวว่า ไม่คิดว่าเด็กที่มีระดับไอคิวสูง หรือมีความรู้มากๆ จะค้นพบได้จากการทดสอบ IQ
หากแต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นจะต้องสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก ต้องสงสัยใคร่รู้อย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ เพื่อที่จะเติบโตกลายมาเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่
การสอนนั้นสำคัญมาก ซึ่งครูควรสอนแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานหลักและให้เด็กใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง การแลกเปลี่ยนความเห็นและเป็นที่ปรึกษาเป็นสิ่งที่ครูต้องทำเป็นสิ่งแรก เพื่อจุดประกายความกระตือรือร้นของเด็กออกมา
ด้านศ.จูน เมเคอร์ นักการศึกษาแห่งแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ปาฐกถาพิเศษ “อัจฉริยะสร้างได้ด้วยทฤษฎี Prism รังสรรค์จินตนาการบวกกับการดูแลจิตใจและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดอัจฉริยะได้” พร้อมนำเสนอทฤษฎีผลึกแท่งเแก้ว (The Prism Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ที่ใช้แสดงถึงความสามารถพิเศษของเด็ก
โดยแสงสีขาวที่มาตกกระทบกับผลึกแท่งแก้วแล้วให้ผลลัพธ์ของแสงออกมาเป็นหลากหลายสี เปรียบได้กับความสามารถทั่วไปและความสามารถเฉพาะของมนุษย์ในหลากหลายสาขา
สิ่งสำคัญ 3 ประการ ที่จะพัฒนาเด็กให้มีความสามารถพิเศษ ได้แก่ ส่งเสริมความสามารถตามธรรมชาติ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ ถูกสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยพ่อแม่ และครู
ภายใต้ทฤษฎีนี้ ความสามารถทั่วไปทั้ง 5 จะสะท้อนออกมาในความสามารถเฉพาะทาง 10 สาขา ได้แก่ สังคม อารมณ์ คณิตศาสตร์ กายและอริยบท การมองเห็นและอวกาศ การได้ยิน ภาษาศาสตร์ เทคนิคและเครื่องกล รวมถึงวิทยาศาสตร์และจิตใจ
“ส่วนตัวแล้ว การทดสอบไอคิว เป็นเพียงมาตรวัดความรู้และประสบการณ์เด็กเท่านั้น” ศ.เมเคอร์ทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ