รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ความคิดเห็นของนายแบรนดอน บัสตีด (Brandon Busteed) จากบทความเรื่อง Wake Up Higher Education. The Degree Is on The Decline. ได้เสนอทางออกสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในยุคตกต่ำที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไว้ 4 ประการ ได้แก่ ต้องไม่จำกัดกรอบความคิดเพียงระดับปริญญาเท่านั้น ต้องเน้นคุณภาพจากการเติบโตและขนาด (Growth & scale) ต้องใช้กลยุทธ์การลดต้นทุน (Cost reduction strategies) และต้องเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (ลูกค้าคือ ผู้เรียน ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ผู้เสียภาษี และนายจ้าง)
ส่วนความคิดเห็นของ รศ.ดร.พิภพ อุดร ที่เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ THE SECRET SAUCE เกี่ยวกับแนวทาง การเอาตัวรอดของมหาวิทยาลัยในยุคที่กำลังถูกดิสรัปชั่นรอบด้าน มี 5 ข้อ คือ มหาวิทยาลัยต้องเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ คนทุกเจน (Gen) ผู้เรียนต้องสามารถออกเบบปริญญาของตัวเอง มหาวิทยาลัยต้องสร้าง Sandbox ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยต้องสลายกำแพงคณะและภาควิชา และมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานรัฐต้องเรียนรู้ใหม่ (Re-learn)
อย่างไรก็ดีรายงานล่าสุดของ OECD หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งเผยแพร่ เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2022 (2565) ที่ผ่านมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ถึงแม้ที่ผ่านมาจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และจำนวนผู้ว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
แต่ขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ‘การศึกษาระดับอุดมศึกษายังคงเป็นใบเบิกทางที่สำคัญของการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน การได้มาซึ่งใบปริญญาระดับอุดมศึกษาคือเส้นทางเข้าสู่ตลาดงานที่ดีที่สุดมากกว่า’ โดยอุปสรรคสำคัญของการจัดการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาคือ ทักษะของผู้สำเร็จการศึกษากับทักษะที่นายจ้างกำลังมองหาหรือต้องการกลับไม่ตรงกัน!!! ซึ่งประเด็นนี้ต้องอาศัยภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการเรียนแบบ Non-degree ให้มากขึ้นเพื่อปูทางไปสู่การมีงานทำที่ดีกว่า
ความได้เปรียบเชิงรายได้ (Earnings advantage) จะเพิ่มขึ้นตามวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับอุดมศึกษาที่สำเร็จมา เช่น ปี 2020 (2563) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้มากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึง ร้อยละ 44 และผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 88 และในปี 2021 (2564) อัตราการว่างงานแบ่งตามระดับการศึกษา พบว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงาน ร้อยละ 4 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 6 และระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 11
ผู้สำเร็จการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่ามีอัตรการจ้างงานสูงที่สุดของกลุ่มบุคคลที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาด้านศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวารสารศาสตร์ เป็นกลุ่มที่มีอัตราการ จ้างงานต่ำที่สุด
แม้ว่า OECD จะให้ข้อมูลเชิงบวกต่อผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายก็ไม่ควรนิ่งนอนใจกับสถานการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคต ดังสะท้อนได้จากผลการศึกษาของ EY (อีวาย) หรือเอินส์ทแอนด์ยัง (Ernst & Young) ที่ระบุว่า หากในปี 2030 (2573) ห้องเรียนสูญพันธุ์ ต้นทุนการเรียนรู้เป็นศูนย์ อนาคต การเรียนรู้เป็นแบบสตรีมเหมือนกับการฟังเพลงผ่านแอป Spotify และเน้นเรียนจากประสบการณ์จริง เวลาที่ใช้เรียนจนสำเร็จ รับปริญญาไม่สำคัญว่าจะเป็นกี่ปี ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ผู้เรียนมีความแตกต่างกันในการเข้าถึงการเรียนรู้แบบเก่า (กายภาพ) และแบบใหม่ (ดิจิทัล) แต่ต้องไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้เรียนแต่ละบุคคล สถาบันอุดมศึกษาถูกท้าทายมากขึ้นจาก “ผู้เล่นรายใหม่” หรือคู่แข่งใหม่ที่เป็นองค์กรอื่น ๆ เข้ามาร่วมจัดการเรียนรู้ และรายได้จากการทำวิจัยเชิงพาณิชย์กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา
ภายใต้สถานการณ์ที่บีบคั้นรอบด้านของสถาบันอุดมศึกษา ทางออกที่ทางอีวายเสนอให้กับสถาบันอุดมศึกษาคือ มองหาวัตถุประสงค์ระยะยาวให้ชัดเจนว่าสถาบันจะมุ่งเรื่องอะไร มองอนาคตว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะสร้างวาระใหม่อะไร มุ่งสร้างคุณค่าใหม่บนความสามารถใหม่ที่มี และเน้นลงทุนหรือบริหารจัดการแบบข้ามเวลาตามสัดส่วน “ปัจจุบัน 70% – อนาคต 20% – เหนืออนาคต 10%” (Now – Next – Beyond) ส่วนเครื่องมือหรือทรัพยากรสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาให้หลุดพ้นจากจุดตกต่ำ ได้แก่ บุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีค่านิยมหลักของสถาบันอุดมศึกษาเป็นตัวยึดโยง
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคือ ‘The New Chapter of Sustainable Growth’ ก้าวต่อไปของสถาบันอุดมศึกษา !!! ครับ…