ส.ค.ศ.ท.พอใจในมติ ก.ค.ศ. ล็อค 36 สาขาสอบครูผช.ต้องมีตั๋วครูเท่านั้น ยืนยันไม่เกี่ยวข้องล่าชื่อถอดถอน “เสมา1” พร้อมประเมินสถาบันผลิตครูสมมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่
วันที่ 28 มี.ค.60 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) ตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้ใช้ครู คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)…กรณี คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) มีมติเปิดให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป สังกัด สพฐ.ประจำปี 2560 ว่า
ประเด็นที่มีการพูดคุยกันคือ คนที่จะมาทำหน้าที่ในตำแหน่งครูผู้สอน ทุกคนจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และการที่จะได้มาซึ่งใบอนุญาตฯ จะต้องทำตามระเบียบที่ถูกต้อง ซึ่งสำนักงานคุรุสภา ดูแลอย่างเข้มข้นอยู่แล้วเมื่อเทียบกับระบบอื่น แต่ทั้งนี้ ก็ต้องเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนสายครูได้เข้ามาเป็นครูได้ด้วย โดยเฉพาะสายอาชีพ และสาขาที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่ได้เปิดสอน โดยเรื่องของมาตรฐานวิชาชีพก็ต้องเข้มข้นด้วย
ส่วนหลักสูตรครู 5 ปีที่เรียนอยู่ตอนนี้ ก็ต้องทำให้เข้มข้นมากกว่าหลักสูตรอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ ซึ่งมีข้อเสนอว่า เมื่อจบหลักสูตรครู 5 ปีแล้ว ต้องมีการทดสอบเพื่อเป็นการการันตรีในเรื่องของมาตรฐานวิชาชีพ เพราะในอนาคต อาจมีเรื่องค่าตอบแทนในวิชาชีพเป็นพิเศษด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้มีหลักสูตร 4+1 คือเรียนหลักสูตร 4 ปีได้ปริญญาตรี แล้วมาเรียนครูอีก 1 ปี แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่เข้มข้นมาก ๆ โดยขณะนี้กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ได้เริ่มเรียนแล้ว
“ประเด็นที่ต้องหารือกันเร่งด่วนคือ ขณะนี้วิชาเอกที่ สพฐ.ประกาศบางสาขาชื่อไม่ตรงกับเด็กเรียน ซึ่งเรื่องนี้ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นทางสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จะเข้าไปตรวจสอบหลักสูตรที่มีอยู่ทั้งหมด ว่ามีชื่อไหนที่ไม่ตรง และใกล้เคียงกันบ้าง เพื่อพิจารณาว่าหลักสูตรไหนใช่ หรือไม่ใช่ เพื่อส่งข้อมูลไปยัง สพฐ.ภายใน 2 วัน และหากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) พบว่านักศึกษามีชื่อสาขาวิชาเอกไม่ตรง ก็ขอให้ส่งชื่อ และแจ้งมาที่ส่วนกลาง เพื่อจะได้ช่วยวิเคราะห์ต่อไปด้วย” ปลัด ศธ.กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธาน ส.ค.ศ.ท. และคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ปลัด ศธ.ได้แจ้งมติ ก.ค.ศ. ที่ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติการสมัครสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป ของ สพฐ.ประจำปี 2560 ที่เปิดสอบ 61 สาขา โดยมี 36 สาขา ที่ให้ผู้จบจากวิชาชีพครูเท่านั้น ไม่เปิดกว้างให้สาขาวิชาชีพอื่นเข้ามาสอบแข่งขัน ส่วนอีก 25 สาขา ที่เปิดให้ผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นมาสอบได้นั้น เรายินดี และได้พิสูจน์ตัวเองด้วยว่าเรามีความรู้ ความสามารถ สู้เขาได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการประเมินคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 17 สาขา ที่ สพฐ.ระบุว่าไม่มีผู้จบการศึกษาหลักสูตรครู 5 ปี ในจำนวนนี้มี 3 วิชา คือ โสตทัศนศึกษา, หลักสูตรและการสอน และ อุตสาหกรรม ความจริงแล้วมีเปิดสอน เพียงแต่ชื่อวิชาอาจจะไม่ตรงกับที่ สพฐ.กำหนด ซึ่งก็ต้องเทียบรายวิชาให้ตรงกันเด็กจะได้สมัครสอบได้ ส่วนอีก 8 สาขาวิชา ที่สถานศึกษาขาดแคลนเรื้อรังนั้น เมื่อ สพฐ.มีข้อมูลว่าขาดแคลนครูจริง เราก็ยอมรับที่ให้คนอื่นมาสอบแข่งขัน
ประธาน ส.ค.ศ.ท.กล่าวต่อไปว่า ส.ค.ศ.ท.พอใจในมติของ ก.ค.ศ.ที่ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติใหม่ และในการประชุมเสวนาเรื่อง “รัฐเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนครูมาเป็นครู ได้หรือเสีย” ในวันที่ 1 เม.ย.60 ยืนยันว่าเป็นการประชุมทางวิชาการ ส.ค.ศ.ท.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่ารายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อไล่ รมว.ศึกษาธิการ แน่นอนเพราะเราใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา และขอฝากถึงนิสิต นักศึกษาที่ไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านั้นว่า เราจะคุยกันด้วยปัญญาให้มีการปรับปรุงให้เกิดคุณภาพ เพื่ออนาคตวิชาชีพครู
“การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในปี 2560 สพฐ.จะขึ้นบัญชีแค่ 1 ปีถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะได้ประเมินตนเอง ประเมินสถานการณ์เพื่อแก้ไขและหาทางออกให้ประเทศชาติ ส.ค.ศ.ท.จะแจ้งมติ ก.ค.ศ. ต่อนิสิต นักศึกษาครู ว่าเมื่อเขาถอยให้แล้วก็ควรจะเดินหน้าพัฒนาวิชาชีพกันต่อไป ให้สมกับที่วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูง”
รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ตนยังได้ประสานกับปลัด ศธ.ขอเข้าพบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อคุยกันใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.จะดำเนินการตามมติก.ค.ศ.ไม่มีการแตะวิชาชีพครูอีกแล้ว ไม่ใช่ให้ใครก็ได้เข้ามาสอบเป็นครู ทำอะไรต้องระมัดระวัง และ 2.ส.ค.ศ.ท.จะมีการประเมินเป็นรายสถาบัน ว่าเราจะต้องพัฒนาตนเองให้สู่มาตรฐานวิชาชีพไม่ให้ใครมาว่าคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ ถ้าทำได้ไม่ดี ก็ไม่ต้องมาผลิตครู
ด้าน ผศ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า การสอบครั้งนี้จะมีการขึ้นบัญชีแค่ 1 ปี ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมาวิเคราะห์กันว่า เมื่อมีการเปิดให้ผู้ที่จบปริญญาตรีมาสอบเป็นครูในบางสาขาวิชาแล้ว จะมีจำนวนผู้ที่ไม่จบครูมาสมัครสอบครูมากน้อยแค่ไหน และสอบกันได้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้ามีคนมาสมัครน้อยมาก อาจจะมีผลที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องมาตรฐาน คุณภาพชีวิต ของวิชาชีพครูว่ายังไม่จูงใจจริง ซึ่งก็จะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และพัฒนาการออกข้อสอบ
——————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ