“หมอธี”สั่งสอบขรก.ซี 8 จ่อไล่ออกพร้อมฟันคดีอาญา ทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต 88 ล้านบาท สอบเข้มผู้ร่วมกระบวนการอีก 4 ราย พร้อมขยายผลตรวจสอบทุกกองทุนมีรั่วไหลอีกหรือไม่ ด้านปลัดศธ.เตรียมหาทางเยียวยาเด็กทุนที่ไม่ได้รับเงิน
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวกรณีที่ กลุ่มตรวจสอบภายในสำนักงานปลัดศธ. ทำการตรวจสอบบัญชีงบประมาณ ประจำปี 2560 ของสำนักงานปลัด ศธ.แล้วพบว่ามีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีการโอนเงินทุนการศึกษาของนักเรียนในโครงการเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561 เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 88 ล้านบาท ว่า
กองทุนฯ ดังกล่าวดำเนินการมาเป็นเวลา 15 ปี แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์จัดสรรเงินช่วยเหลือให้กับผู้ยากจนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกส่วนเป็นทุนสำหรับเด็กหญิงที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก หรือเด็กตกเขียว ให้มีทุนการศึกษาในระดับวิชาชีพ และให้ทุนกับสถาบันการศึกษา ที่สอนด้านครูและพยาบาล ทั้งนี้ กองทุนฯ ดังกล่าวใช้งบประมาณเริ่มต้นจากสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 600 ล้านบาท โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มตรวจสอบบัญชีฯ ได้ทำการตรวจและพบปัญหาว่ามีการยักยอกโอนเงินเข้าบัญชีพรรคพวก ญาติพี่น้องตนเอง รวมกว่า 88 ล้านบาท เฉพาะปี 2560 เป็นเงินประมาณกว่า 12 ล้านบาท ซึ่งทันทีที่ตนทราบปัญหาดังกล่าว ได้สั่งการให้ปลัด ศธ. แจ้งความดำเนินคดีทันทีในหลายกระทง รวมถึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบไปพร้อมกัน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีข้าราชการฝ่ายปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 8 ที่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้มาโดยตลอด และรับสารภาพว่า ทำจริงแล้ว 1 ราย ซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะจากการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะทำคนเดียวได้โดยลำพัง ซึ่งเบื้องต้นได้ย้ายข้าราชการทั้ง 5 ราย ไปปฏิบัติหน้าที่ยังหน่วยงานอื่นแล้ว ส่วนผู้ที่รับสารภาพ 1 ราย ถือว่ามีโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการ รวมถึงจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย ขณะเดียวกัน หากมีการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลใดอย่างไม่ถูกต้อง เจ้าของบัญชีปลายทางที่รับโอนเงินก็ถือว่ามีความผิดด้วย
“กรณีนี้เป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในระดับปฏิบัติการ มีการยักยอกเงินของคนที่ควรจะได้ไป ซึ่งทันที่ที่ตรวจสอบพบไม่ได้รอช้า ดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างเพื่อจะคืนความยุติธรรม ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ปลัด ศธ.ได้อนุมัติเงินเพื่อส่งให้เด็ก แต่ฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งเป็นผู้โอนเงินแทนที่จะโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับทุน ก็โอนเงินให้กับพรรคพวก และญาติพี่น้องของตนเอง ซึ่งฝ่ายตรวจสอบบัญชีได้ตรวจสอบพบสิ่งผิดปกติ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า มีการโอนเงินให้กับผู้รับทุนไปจำนวน 77 ล้าน แต่ยักยอกเงินเข้าบัญชีตัวเองและญาติพี่น้องถึง 88 ล้านบาท ซึ่งผมก็ได้สั่งการให้ปลัด ศธ. ไปแจ้งความในหลายกระทง และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีรายงานข้อมูลเท็จ และแจ้ง ปปท.และ ป.ป.ช. เพราะเป็นข้าราชการประพฤติมิชอบ แจ้ง ปปง.เพื่อดำเนินการอายัดทรัพย์ในบัญชีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดำเนินการวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หัวหน้าของเจ้าหน้าที่รายนี้ ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบว่า มีความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ไปตรวจสอบด้วยว่า บัญชีผู้รับทุนมีจำนวนเท่าไร และผู้รับทุนได้รับเงินที่ควรจะได้หรือไม่ หากไม่ได้รับจะให้ผู้รับทุนไปแจ้งความว่ามีการยักยอกเงินด้วย”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า
จากกรณีนี้ตนได้สั่งการให้ปลัด ศธ. ตรวจสอบไปยังกองทุนฯอื่น ๆ ด้วยว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ และดูระบบการโอนเงินว่า มีการรั่วไหลได้ที่ช่องทางใดบ้าง ทุจริตตรงขั้นตอนใด ส่วนกรณีผู้รับทุนแต่ไม่ได้รับเงิน ตนได้มอบหมายให้ปลัด ศธ. ดูด้วยว่ามีช่องทางใดที่จะเยียวยาได้บ้าง
ทั้งนี้จากการตรวจสอบ ยังพบว่าที่ผ่านมาเด็กที่ไม่ได้รับเงิน มีการสอบถามเข้ามาบ้าง โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติใช้วิธีหมุนเงิน จึงทำให้เรื่องเงียบไป ดังนั้น ตอนนี้จึงยังไม่รู้ว่าเงินที่ยังไม่ได้โอนมีเท่าไร แต่ตนในฐานะที่ดูแล ศธ. จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า จะมีการไปตรวจสอบบัญชีปลายทางของบุคคลที่โอนไป 19-20 บัญชีบุคคล มีเด็กที่ได้เงินจากกองทุนไปแล้วกี่คน มีเด็กที่ไม่ได้เงินจากกองทุนกี่คน ใครบ้าง โดยสำรวจทั้ง 3 กลุ่มสถานศึกษา ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และกลุ่มวิทยาลัยพยาบาล เมื่อได้ตัวเลขแล้วจะนำเข้าสู่คณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พิจารณาว่าจะมีช่องทางการเยียวยาอย่างไรบ้าง ส่วนขั้นตอนการจ่ายเงินกองทุนฯ นั้น จะต้องมีการหารือที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ว่าจะอนุมัติทุนกี่ราย ใครบ้าง และเป็นมติของที่ประชุมเสนอผู้บริหารอนุมัติเห็นชอบ จากนั้นฝ่ายปฏิบัติ ได้แก่ กองคลัง สำนักอำนวยการของ สป.ศธ. ก็จะดำเนินการเบิกจ่ายตามขั้นตอน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการโอนเงินของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 ถึงเดือน มี.ค.2561 พบว่า มีการอนุมัติเงิน 166,347,721 บาท เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีหน่วยงาน 77,531,072 บาท และเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคล 88,816,640 บาท เบื้องต้นพบเป็นบัญชีญาติของข้าราชการที่รับสารภาพ
การโอนเงินแต่ละปีจำแนกดังนี้ ปี 2551 และ 2553 ระบบบัญชียืนยันว่าได้จ่ายแล้ว แต่ยังไม่รู้ชัดเจน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ส่วนปี 2552 อนุมัติ 10,892,422 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 8,571,276 บาท โอนบัญชีบุคคล 2,320,968 บาท
ปี 2554 อนุมัติ 11,409,860 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 7,377,460 บาท โอนบัญชีบุคคล 4,032,400 บาท
ปี 2555 อนุมัติ 25,407,608 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 9,074,336 บาท โอนบัญชีบุคคล 16,332,272 บาท
ปี 2556 อนุมัติ 37,047,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 11,806,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 25,241,000 บาท
ปี 2557 อนุมัติ 10,997,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 8,754,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 2,243,000 บาท
ปี 2558 อนุมัติ 35,227,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 16,954,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 18,273,000 บาท
ปี 2559 อนุมัติ 18,717,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 14,169,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 4,548,000 บาท
ปี 2560 อนุมัติ 13,625,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 825,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 12,800,000 บาท
ปี 2561 ถึงเดือนมีนาคม อนุมัติ 3,025,000 บาท โอนเข้าบัญชีบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับทุนทั้งหมด
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ