ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพอยู่หลายอย่าง เช่น ใช้ถุงยางอนามัย การกินยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ การติดเชื้อด้วยการรักษาผู้ที่ติดเชื้อแล้วด้วยยาต้านไวรัสเพื่อให้ควบคุมปริมาณไวรัสเอชไอวีในร่างกายให้อยู่ต่ำมากไม่เกิดการแพร่เชื้อต่อไป หรือเรียกว่าการรักษาเสมือนการป้องกัน การติดเชื้อด้วยการให้หญิงตั้งครรภ์กินยาต้านไวรัสที่จะช่วยลดการแพร่เชื้อไปสู่ลูก หรือเรียกว่าการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก และการติดเชื้อด้วยการให้ผู้ที่สัมผัสกับเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัส (เช่น ในการรักษาผู้ติดเชื้อ หรือในการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกันการติดเชื้อกับผู้ที่มีเชื้อ)
แต่วิธีการต่างๆ นี้ประสิทธิภาพในการป้องกันขึ้นอยู่กับการใช้หรือการกินหรือการปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ซึ่งต่างจากวัคซีนที่ฉีดเป็นระยะในจำนวนไม่กี่เข็ม ออกฤทธิ์นาน จะช่วยลดการระบาดของโรคเอดส์ และแก้ไขปัญหาการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องที่เป็นจุดอ่อนของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีโดยวิธีการอื่น ดังนั้น วัคซีนจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการควบคุมการระบาดของโรคในคนที่ไม่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 หรือ (อาร์วี 144) เมื่อปี พ.ศ. 2546 มีผลสรุปว่าวัคซีนมีประสิทธิผลสามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ 31.2% ที่ 3 ปี นับเป็นก้าวสำคัญยิ่งของการพัฒนาวัคซีนเอดส์ เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าวัคซีนเอดส์มีประสิทธิผลในการป้องกัน และวัคซีนนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นวัคซีนต่อสายพันธุ์ซีโดยใส่สารเสริมฤทธิ์ (เอ็มเอฟ 59) ขณะนี้กำลังทดสอบหาประสิทธิผลในประเทศแอฟริกาใต้และคาดว่าจะทราบผลในอีก 2 ปี ข้างหน้า ต่อมาได้ศึกษาต่อยอดเพื่อประเมินว่าถ้ากระตุ้นที่เวลาต่างกันเป็นอย่างไร
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัสเอชไอวียังอยู่ในกระบวนการวิจัย จากโครงการ RV144 ได้มีการทำวิจัยต่อยอดในอาสาสมัครกลุ่มใหม่โดยการฉีดวัคซีนปูพื้นและวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีกครั้ง โดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กำลังทดสอบหาประสิทธิผลเบื้องต้นในแอฟริกา หากพบว่าวัคซีนปลอดภัยและกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานก็อาจจะนำมาสู่การทดสอบหาประสิทธิผลต่อสายพันธุ์อีในประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้ พบว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ดีนั้นอาจจะทำให้มีผลเลือดบวกปลอมเนื่องจากปฏิกิริยาของวัคซีน จึงมีแนวโน้มว่าวัคซีนที่ดีอาจจะทำให้มีผลเลือดบวกปลอมได้ซึ่งไม่ใช่การติดเชื้อโดยสามารถแยกได้โดยใช้วิธีการตรวจที่เหมาะสม
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ