เจาะประเด็นข่าว 7HD – ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เสนอให้เรียนฟรีถึง ม.6 เพื่อลดปัญหา เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา หลังสำรวจพบ เด็กจบ ม.3 ไม่เรียนต่อถึง 90%
ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ห่วงเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ชั้น ม.3 กำลังจะขึ้น ม.4 บอกว่า “เด็กยากจนจะเริ่มทยอยหลุดจากระบบการศึกษาช่วง ม.ต้น หลุดมากสุดช่วงรอยต่อ ม.3 ขึ้น ม.4 กระทั่งถึงระดับอุดมศึกษาจะหลุดถึงเกือบ 90%”
เรื่องนี้ มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นมากมาย ส่วนใหญ่มองว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ไม่มีอยู่จริง หรือหากมีก็ไม่ได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการศึกษาให้กับผู้ปกครองทั้งหมด เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละวันค่อนข้างสูง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ทำให้บางครอบครัวส่งเสียไม่ไหว จึงให้บุตรหลานหยุดเรียน
ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ระบุถึง 3 ปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ เด็กที่จบการศึกษาชั้น ม.3 และกำลังจะขึ้นชั้น ม.4 ถือว่าพ้นจากการศึกษาภาคบังคับ และไม่ได้เรียนฟรีแล้ว หากจะเรียนต่อชั้น ม.ปลาย หรือ อาชีวศึกษา จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 30,000-70,000 บาท
หลังจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว อาจารย์ไม่มีการติดตาม หรือ ดูแลเอาใจใส่ว่าเด็กจะเรียนต่อที่ไหน และอีกปัจจัยคือเด็กมีปัญหาส่วนตัว มีความก้าวร้าวรุนแรง และยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดเพิ่มมากขึ้น
หากเป็นไปได้อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ ควรขยายระดับชั้นเรียนฟรีเพิ่ม และมีทุนการศึกษาให้กับเด็กที่จบชั้น ม.6 ไปเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา ป้องกันปัญหาขาดแคลนกำลังคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในอนาคต