คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาชี้ การศึกษาไทยไปรอด หรือไม่รอด พร้อมแนะทางออกช่วยเด็กไทย และประเทศสานต่อการศึกษาที่มั่นคง เพื่อพัฒนาความสามารถของนักเรียนทุกคนให้เกิดพัฒนาการและบรรลุเป้าหมาย
เมื่อวันที่ 13 ม.ค.67 ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และผู้ก่อตั้ง สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า ถ้าสถาบันการศึกษาไทย ไม่ตื่นตัวและไม่ร่วมมือกันขับเคลื่อนด้านการศึกษา ทั้งผู้เรียน และผู้สอน อาจไม่สามารถพัฒนาได้ และการศึกษาจะยังคงดำดิ่งอยู่ในยุคเดิม
ดร.ศักดิ์สิน ระบุว่า ก่อนปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยมีแนวทางปรับปรุงหลักสูตร ครั้งสำคัญโดยนำเอามาตรฐานการเรียนรู้มาจากประเทศชั้นนำทั่วโลก ตั้งแต่ สหรัฐอเมริกา ทุกประเทศชั้นนำในยุโรป รวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ดังนั้นมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของประเทศไทย จึงเป็นหลักสูตรที่กำหนดมาตรฐานที่เป็นสากลอย่างแท้จริงเป็นเป้าหมาย รวมทั้งได้กำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ถ้าประเทศไทยจัดการศึกษาให้ตอบสนองหลักสูตรดังกล่าวได้บรรลุผลในครั้งนี้ได้สำเร็จในเวลาที่ควรจะเป็น ประเทศไทยสามารถพัฒนาเยาวชน และคนไทยยุคใหม่โดยใช้การศึกษามายกระดับคุณภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพขั้นสูงระดับสากลมาเสริมสร้างศักยภาพของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยไปได้อย่างก้าวล้ำกว่าปัจจุบัน
แต่ผลที่เห็นอยู่ในขณะนี้ไม่ตอบโจทย์มาตรฐานการเรียนรู้อย่างคาดไม่ถึง ตนจึงขอขยายความให้เห็นเป็นความคิดรวบยอดง่ายๆ ดังนี้หลักสูตร หมายถึง แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนเพื่อพัฒนาความสามารถของนักเรียนทุกคนให้เกิดพัฒนาการและบรรลุเป้าหมายตามที่หลักสูตรกำหนด ทั้งนี้องค์ประกอบของหลักสูตรได้กำหนดองค์ประกอบไว้ ดังนี้
มาตรฐานการเรียนรู้, Backward Design, Content หรือเนื้อหาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้, มิติคุณภาพ Knowledge & Attitude & Process, คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ, สมรรถนะสำคัญ 5 ด้าน, กระบวนการเรียนรู้ หรือกิจกรรมการเรียนรู้ , การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง Rubrics
ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สถานศึกษา ครูผู้สอนต้องนำองค์ประกอบทุกข้อไปหลอมรวมออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นกระบวนการหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ใช้กระบวนการเรียนรู้หรือกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่หลุดจากเนื้อหา และนักเรียนนำหลักการและกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ นำไปสร้างผลผลิต นวัตกรรม และนำไปประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาผลผลิตระดับท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ และระดับสากลได้จริง
มาตรฐานการเรียนรู้หมายถึงความสามารถในการแสดงออกของนักเรียนเริ่มตั้งแต่การสร้างความรู้ตั้งแต่ระดับมิติการคิดวิเคราะห์มิติคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และมิติด้านทักษะ กระบวนการ และต่อยอดสู่ระดับความคิดรวบยอดในทุกมิติ เพื่อให้ความคิดรวบยอดทั้งสามมิติเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเกิดเป็นหลักการ และให้นำหลักการไปสู่การเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ นำหลักการไปพัฒนาคุณภาพชีวิตจริงในทุกสถานการณ์ได้ตลอดชีวิตและส่งผลให้เกิดผลผลิตในระดับนวัตกรรม
จึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันรูปแบบการจัดการศึกษาของประเทศไทยยังมีโรงเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เคยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ดังกล่าวมาก่อนเลย เพราะการจัดการเรียนการสอนกลับกลายเป็นรูปแบบนำข้อมูลในหนังสือเรียนมาอธิบาย บรรยาย เพิ่มข้อมูลจากที่มีอยู่เพื่อให้นักเรียนนำไปทบทวนให้เกิดความจำ เพื่อนำมาสอบวัดผลให้ได้คะแนนและลำดับที่ดี ซึ่งการสอนดังกล่าว นับว่าเป็นการเรียนแบบ Passive Learning นั่นเอง
ดร.ศักดิ์สิน เน้นย้ำ ถ้าทุกสถาบันการศึกษามุ่งเน้นปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้จากรูปแบบ Passive Learning ไปเป็นรูปแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบเป็นกลไกสำคัญในการให้นักเรียนเป็นผู้ถักทอหรือสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองทุกมิติ ทุกระดับ และกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตในระดับนวัตกรรม ส่วนการวัดและประเมินผลเน้นให้วัดและประเมินผลตามสภาพจริง โดยใช้เกณฑ์มิติคุณภาพ (Rubrics) เพื่อเน้นให้นักเรียน
ทุกคนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้อย่างมีร่องรอยหลักฐานที่เชื่อถือได้ และยังกำหนดให้ศักยภาพของนักเรียนในระดับประถมศึกษาสามารถนำหลักการไปเสริมสร้าง พัฒนาขั้นตอนการประกอบอาชีพของครอบครัวได้ และศักยภาพของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาสามารถทำงานร่วมกับชุมชนในรูปแบบปฏิบัติการเชิงวิจัยสร้างผลผลิต ผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับประเทศเพื่อการแข่งขัน นับว่าเป็นมาตรฐานขั้นสูงระดับสากลอย่างแท้จริงโดยใช้มาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรเดิมที่มีอยู่แล้วให้สำเร็จ จึงจะเป็นการผ่าทางตันด้านการศึกษาไปสู่ทางรอดที่สมบูรณ์แบบ