คณะกรรมการอิสระฯ ชงปรับโฉม พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
วันที่ 19 ธ.ค.60 นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า คณะกรรมการอิสระฯ ทำงานครบ 6 เดือนถึงเวลานำเสนอแผนงานปฏิรูป เพื่อไปรวมกับคณะกรรมการปฏิรูปอีก 12 คณะ ในการจัดทำแผนปฏิรูปของชาติ ซึ่งจะครอบคลุมทุกด้าน ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษา จะตรงกับยุทธศาสตร์ ใน 4 ด้าน คือ ยกระดับคุณภาพผู้เรียน ลดความเหลื่อมล้ำความเสมอ เน้นสร้างความเป็นเลิศ สร้างธรรมาภิบาล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเสนอเพิ่มครั้งนี้ คือ เรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อเสนอในการแก้ไข 12 ประเด็น อาทิ จัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มุ่งเน้นการศึกษาและการเรียนรู้ ที่ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ การศึกษาทางเลือกและเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิต ให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลาง แยกกลไกด้านนโยบาย และงบประมาณออกจากกันให้มีความชัดเจน ให้การจัดการศึกษามุ่งเน้นการพัฒนาความถนัด มีคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนการประเมินผล วิจัย และพัฒนา รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาที่มีศักยภาพ และที่สำคัญคือ ให้มีกลไกบริหารและจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม ของระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ ที่ดำเนินการอย่างรอบด้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระฯ จะนำข้อสรุปที่ได้เสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูป 12 คณะ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 คณะ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 21 ธ.ค.60
“ทั้ง 12 ข้อ เป็นเบื้องต้นที่คิดออกมาว่า เมื่อมี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ควรจะมีอะไรบ้าง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันคิด ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วเรามุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม เพราะการศึกษาปัจจุบันยังไม่ดีพอ และต้องเป็นการปรับใหญ่ หวังว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง โดยวางแผนให้มีผลกระทบใน 5 ปี แต่จะเกิดผลจริงๆ น่าจะ 10 ปี ที่จะเห็นผลคุณภาพการศึกษา เช่น ความเหลื่อมล้ำหายไป มีการพัฒนาความสามารถตามความถนัดของตน มุ่งสู่การมีชีวิตที่ดี”
นพ.จรัส กล่าวและว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสระฯ ได้มีข้อเสนอแนะหลายเรื่องไปยังรัฐบาล เช่น เรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คาดว่าน่าจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เร็ว ๆ นี้ ส่วนการผลักดันปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงมากกว่าการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา โดยจะต้องมีการสร้างคุณภาพบัณฑิต ที่ไม่ใช่จบออกมาแล้วทำงานไม่ได้ ขณะเดียวกันผู้รับผิดชอบผลิตบัณฑิต ซึ่งผลิตสาขาที่ผลิตเกินจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงยังมีเรื่องการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ที่ต้องนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องปฏิรูปคือ สถาบันอุดมศึกษา ที่จะต้องเป็นตัวผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรู้เป็นหลัก สุดท้ายคืออุดมศึกษา สร้างคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม สร้างบัณฑิตที่ออกมาไม่โกง เห็นได้ว่าอุดมศึกษาต้องปฏิรูป แต่จะปฏิรูปอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การปฏิรูปอุดมศึกษา จะต้องมีความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางวิชาการ กับการกำกับดูแล ดังนั้น พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ในความเห็นของคณะกรรมการอิสระฯ คือการพลิกโฉมอุดมศึกษา ซึ่งคิดว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้เร็ว ๆ นี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ