‘คณะก้าวหน้า’ เปิดตัวหนังสือแปลเล่มแรก ‘นี่แหละเผด็จการ’ หวังสร้างประชาธิปไตย ด้าน ‘ประจักษ์’ เผย สังคมไทยยังโลกสวย ‘เผด็จการ’ บอกจะคืนความสุข ก็ยังเชื่อ
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ร้าน Artzy Cafe Jim Thompson Art Center มูลนิธิคณะก้าวหน้า จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือภาพการเมือง ‘นี่แหละเผด็จการ’ ที่แปลจากต้นฉบับภาษาสเปน โดยมี น.ส.มานา ชุณห์สุทธิวัฒน์ นักวิชาการคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้แปล, นายประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นานภูวนาท คุนผลิน พิธีกรและนักจัดรายการในฐานะตัวแทนผู้อ่าน และ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ บรรณาธิการและผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เป็นผู้ร่วมเสวนา
น.ส.กุลธิดา กล่าวเปิดการเสวนาว่า การผลิตและแปลหนังสือก้าวหน้า เป็นงานที่มูลนิธิก้าวหน้าตั้งใจให้เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่ายังมีองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอีกมากมายที่รอการผลิตและเผยแพร่สู่ประชาชน เหตุผลที่ ‘นี่แหละเผด็จการ’ เป็นหนังสือลำดับที่ 1 ที่ผลิตโดยมูลนิธิ เพราะเชื่อว่าจะสามารถปลุกความคิดเกี่ยวกับที่มาที่ไป นิยาม และโฉมหน้าเผด็จการต่อสังคมได้ เนื่องจากบริบทของหนังสือเล่มนี้ ส่วนหนึ่งคือการบันทึกยุคสมัยช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการฟรังโกไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือดีเด่นในเทศกาลโบโลญญา ซึ่งเป็นเหมือนเวทีออสการ์ของหนังสือเด็กและได้รับรางวัลสูงสุดจากเทศกาลนี้ เป็นหนังสือภาพที่มีความเป็นสารคดีอยู่ในนั้น เนื้อหาข้างในเขียนขึ้นหลังจาก นายพลฟรังโกเสียชีวิต หรือเมื่อ 45 ปีมาแล้ว ตอนนั้นคือเป็นช่วงเวลาที่สเปนมีความพยายามเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการมาสู่ประชาธิปไตย จึงมีพยายามบอกว่า เผด็จการ รูปร่างหน้าตาอย่างไรในรูปแบบที่เข้าใจง่ายมาก งานหนึ่งของคณะก้าวหน้า คือการทำงานทางความคิด พูดคุยกับคนให้มากและหลากหลายที่สุด เราคิดว่าหนังสือภาพที่มีข้อความประกอบสามารถอ่านได้ง่าย เด็กอ่านได้ในแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่อ่านได้ในอีกแบบหนึ่งหรืออาจอ่านกับพ่อแม่ก็ได้ หนังสือเล่มนี้ยังมีกิจกรรมอยู่ท้ายเล่มซึ่งมีความแสบคันเล็กน้อยในหนังสือ การบอกว่าเผด็จการคืออะไร ก็เท่ากับบอกว่า ประชาธิปไตยคืออะไร นี่คือเหตุผลที่เราเลือกหนังสือเล่มนี้เป็นลำดับแรกของคณะก้าวหน้า” น.ส.กุลธิดากล่าว
ขณะที่ ประจักษ์ กล่าวว่า ดีใจที่มีการแปลหนังสือเล่มนี้ออกมา เพราะเมื่อก่อนเรามักจะสนใจศึกษาเรื่องประชาธิปไตยมากกว่าว่า เกิดมาแบบไหน บนเงื่อนไขอะไร เราเรียนและสอนเรื่องนี้กันในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ค่อยมีใครสอนว่า ‘ระบอบเผด็จการ’ เกิดได้อย่างไร ทำงานอย่างไร จนช่วงหลังที่เทรนด์ของโลกเริ่มเปลี่ยน เพราะหลายประเทศย้อนกลับไปหาเผด็จการมากขึ้น ความสนใจศึกษาเรื่องนี้จึงมีมากขึ้นเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมเผด็จการจึงยังอยู่ได้ คงทน และยาวนาน แต่หากเขียนในแบบวิชาการ หนาเป็นร้อยเป็นพันหน้าก็จะเข้าถึงคนในวงจำกัด พอเป็นหนังสือแบบภาพแบบนี้ ยิ่งเล่มบาง มีไม่กี่หน้าก็เข้าถึงง่ายกว่า เข้าใจกว่าและหนังสือเล่มนี้ยังเหมือนจับเอาหัวใจมาเขียนให้เห็นเป็นภาพเลย
“ตอนนี้ทั้งโลกมีความรู้เรื่องระบอบเผด็จการเยอะ ยกเว้นสังคมไทยที่ยังโลกสวยกับเผด็จการ จนอาจจะเคยได้ยินคำประเภท ‘เผด็จการโดยธรรม’ เราจึงไม่ค่อยตั้งคำถามกับเผด็จการ แต่พอเป็นประชาธิปไตย พอเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งปุ๊บ รู้เท่าทันทุกอย่าง ตั้งคำถามได้หมด จริงอยู่ที่การตั้งคำถามเป็นเรื่องดีแม้เป็นประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่พอเป็นเผด็จการเราไม่ค่อยตั้งคำถาม ให้โอกาสมาก เขาบอกจะคืนความสุขก็ยังเชื่อ” นายประจักษ์กล่าว
นายประจักษ์กล่าวต่อว่า การปกครองของเผด็จการมีไม่พ้น 3 เรื่อง คือ ปกครองด้วยความกลัว ปกครองด้วยความเท็จ และการเลี้ยงดูเครือข่ายบริวาร เผด็จการทั่วโลกทำแค่นี้ ปกครองด้วยความกลัว เช่น การจับกุม คุมขัง ข่มขู ทำให้คนที่อยากตั้งคำถามขออยู่เป็นดีกว่า เพราะถ้าถามก็กลัวจะเป็นอันตราย บางประเทศก็ปราบปรามรุนแรงเลย เช่น พม่า
ส่วนการปกครองด้วยความเท็จ เพราะเผด็จการจะมีปัญหาตามมาเยอะ ไม่ว่าคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจบาทใหญ่ ดังนั้น เขาจะต้องควบคุมความจริงให้ได้ ต้องบอกว่า เห็นไหมฉันปกครองไม่มีคอร์รัปชั่นเลย ในสังคมที่ไม่มีข้อมูลข่าวสาร ไม่มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา การควบคุมความจริงก็ทำได้เบ็ดเสร็จ คุมความคิดได้หมดจนคนไม่รู้ว่าความจริงอยู่ที่ไหน
“ประการสุดท้าย การเลี้ยงดูเครือข่ายบริวารเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยเข้าใจ แต่เผด็จการเก่งขนาดไหน อยู่ตัวคนเดียวไม่มีคนสนับสนุนก็อยู่ไม่ได้ เหมือนหัวหน้ามาเฟียต้องมีสมัครพรรคพวก มีบริวาร มีลูกน้อง จะทำอย่างไรให้คนมาแวดล้อมสนับสนุน ก็ต้องแจกของให้รางวัล อย่างบ้านเรา เช่น แจกกล้วย เพราะได้ประโยชน์คนเดียวไม่ได้ ไม่มีใครเอาด้วย เผด็จการจึงเป็นระบอบที่คอร์รัปชั่นสูง เพื่อตักตวงผลประโยน์ให้เยอะมาเลี้ยงดูคนที่จะทำงานให้เขา ลักษณะร่วมเราไม่ต่าง แต่ปัจจุบัน เผด็จทั่วโลกก็ปรับตัวเพราะใช้อำนาจแบบเดิมไม่ได้อีก แบบเดิมคืออย่างฟรังโก ใช้ความรุนแรง ปราบจับ แต่ยุคหลังสงครามเย็นไม่ได้ ต้องปรับตัว สิ่งที่เห็นคือหันมาใช้เครื่องมือทางกฎหมายมากขึ้น ซึ่งตรงนี้น่ากลัว” นายประจักษ์กล่าว
นายประจักษ์กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ช่วงหลังปี 1975 จนสหภาพโซเวียตล่มสลาย ช่วงนี้เผด็จการ 30-40 ประเทศล้มกันหมด เพราะไม่อาจฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงได้ ไทยเองก็ช่วงรัฐบาลชาติชาย แต่ก็ยังมีประเทศที่ยังอยากเป็นเผด็จการ อยากใช้อำนาจอยู่ จึงต้องใช้อำนาจให้แนบเนียนขึ้น จะอุ้มฆ่าสังหารหมู่หรือ 10 ปี ไม่ให้มีการเลือกตั้งเลยทำไม่ได้อีกแล้ว แต่ของเราเกือบทำได้แล้วทั้งที่ไม่น่าจะมีประเทศไหนทำแบบนี้ได้อีก
การปรับตัวของเผด็จการ เช่น ถึงจุดหนึ่งต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง สอง การฆ่าตามใจชอบทำไม่ได้ จึงหันมาใช้กฎหมายสร้างความหวาดกลัวแทน เช่น แค่ชูกระดาษหนึ่งแผ่นตำรวจก็จะหาข้อหาสักอย่างแล้วไม่ให้ประกันตัว หรือขนาด ส.ส.อภิปรายในสภาก็โดนฟ้องได้ สื่อก็โดนอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บ้าง อ้างกฎหมายห้ามรายงานข่าวบ้างไม่งั้นจะโดนเล่นงาน เขาเลยหันมาใช้กฎหมาย ยอมให้มีการเลือกตั้งแล้วหันมาควบคุมการเลือกตั้งแทน เพื่อให้ฝ่ายตัวเองยังชนะ
ดังนั้น ‘นี่แหละเผด็จการ’ คือเผด็จการในยุคสงครามเย็น จึงควรต้องมีเล่ม 2 คือ เผด็จการโดยใช้กฎหมาย ส่วนการสั่งปิดสื่อแบบเดิม เมื่อทำไม่ได้ก็หันมาใช้ไอโอ หรือใช้กฎหมายไซเบอร์ควบคุมแทน นี่คือการปรับตัวในโลกปัจจุบัน
นายประจักษ์กล่าวว่า หากมองในแง่นี้ สังคมไทยยังฝืนกระแสโลกหลายเรื่อง ในรอบ 20 ปีมานี้ การใช้กองทัพมาทำรัฐประหารไม่มีแล้ว เผด็จการต้องแนบเนียนกว่านั้น ไทยจึงเหมือนลงไปเตะอยู่ในลีกต่ำสุด ทั้งที่ก่อนรัฐประหาร เราเคยอยู่ในยุคที่เป็นผู้นำอาเซียน จะเป็นเสือตัวที่ 5 ทางเศรษฐกิจ ในทางการเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือสื่อก็ได้รับการยกย่อง ตอนนี้เรากลับไปอยู่ในลีกเดียวกับ พม่า, บูร์กินาฟาโซ, มาลี, ซูดาน เหลือประเทศในกลุ่มนี้ไม่กี่ประเทศ หรือกระทั่งถึงขั้นกระทรวงศึกษาฯ ของเราเอาเกาหลีเหนือมาเป็นแรงบันดาลใจ แล้วแบบอนาคตจะไปอยู่ตรงไหน
นายประจักษ์กล่าวว่า หลายประเทศแม้จะเป็นประชาธิปไตยแล้ว หนังสือที่สื่อสารเรื่องเหล่านี้ก็ยังมีเยอะมาก เขาปลูกฝังในการศึกษา ในหนัง หรือในหนังสือ เขาอ่านเพื่อเตือนให้ไม่ลืม อย่างเยอรมันหรืออเมริกา มีเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานแล้ว เราจึงควรมีหนังสือเรื่องพวกนี้ เพื่อคอยเตือนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก หรือเพื่อย้ำเตือนว่าจะก้าวข้ามไปอย่างไร
ในช่วงท้าย กุลธิดากล่าวว่า แม้จะเป็นหนังสือจะชื่อ ‘นี่แหล่ะเผด็จการ’ แต่ความจริงมันเครื่องมือไปสู่ประชาธิปไตย หนังสือจะนำไปสู่จินตนาการและบทสนทนา บทสนทนาที่มีคุณค่าที่สุดคือสามารถแลกเปลี่ยน ทำความรู้จักตัวเองและเพื่อนในบทสนทนาได้ การทำงานทางความคิดคือสิ่งนี้ จึงอยากให้หนังสือเล่มนี้ไปอยู่ในพื้นที่ของคนทุกคน ไม่ว่า บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน หยิบมาแล้วก็นำมาพูดคุยในรูปแบบของตัวเอง เพราะเชื่อว่า ‘นี่แหละเผด็จการ’ ในที่สุดก็จะกลายเป็นประชาธิปไตยของทุกคน
หนังสือภาพ ‘นี่แหละเผด็จการ’ สั่งซื้อได้ในรูปแบบพรีออเดอร์ของคณะก้าวหน้า หากสั่งซื้อตั้งแต่วันนี้ – 24 มี.ค. จากราคาเต็ม 299 บาท ลดเหลือเพียง 269 บาท หากเป็นสมาชิก Common School จะได้ส่วนลดอีก 15% เหลือ 254 บาท หรือสามารถไปซื้อด้วยตนเองได้ที่ บู้ท A14 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 26 มีนาคม-6 เมษายน ณ สถานีกลางบางซื่อ