คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เร่งสร้างค่านิยมใหม่ ปั้นคนอาชีวะเสิร์ฟตลาดแรงงาน ผ่านแผนบิ๊กร็อค 4 ผ่าน 3 แนวทาง หลังพบอัตราคนว่างงานสวนทางดีมานด์ภาคอุตสาหกรรม
วันที่ 27 ตุลาคม 2564 รศ. ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานสายอาชีพหรืออาชีวศึกษา ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก และเปิดเผยว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษากำหนดแนวทางการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา หรือ Big Rock 4 แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับต้นน้ำ 2.ระดับกลางน้ำ 3.ระดับปลายน้ำ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเน้นฝึกปฏิบัติ เพื่อผลักดันการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
รศ. ดร.สมภพ กล่าวว่า แม้ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะชี้ให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 1.89 หรือประมาณ 7.3 แสนคน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.96 หรือประมาณ 7.6 แสนคนในไตรมาสแรก แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า หลายอุตสาหกรรมยังคงขาดแคลนคนทำงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง และตอบโจทย์ในภาคธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งกลุ่มสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน และสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้ที่เรียนจบระดับอุดมศึกษา
“เราจำเป็นต้องเร่งผลิตแรงงานที่มีทักษะและสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อรองรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเพื่อสนับสนุนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้จัดทำแผนปฏิรูประบบการศึกษาไทยเชิงนโยบาย เรื่องการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน (Big Rock 4)”
โดยกำหนดกรอบการพัฒนาระบบการอาชีวศึกษาใน 3 ระดับ ดังนี้
1. ระดับต้นน้ำ คือ การสร้างความพร้อมของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับเจ้าของอาชีพ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ ควบคู่กับการฝึกงานในสถานประกอบการ อีกทั้งความพร้อมของครูผู้สอนในการพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ ทั้งด้านวิชาการและการฝึกทักษะ รวมถึงความพร้อมด้านปัจจัย หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน
2. ระดับกลางน้ำ คือ กลไกการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ องค์กรวิชาชีพ องค์กรธุรกิจต่าง ๆ เช่น มาตรการทางภาษี การลดข้อจำกัดในด้านกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคีให้มีความคล่องตัว และสนับสนุนให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การฝึกงานเพื่อสร้างความพร้อมในการทำงานจริง
3. ระดับปลายน้ำ คือ การเพิ่มระดับคุณภาพของผู้สำเร็จอาชีวศึกษาทวิภาคี ที่นำไปสู่การสะท้อนผลต่อกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ ผู้เรียนอาชีวศึกษามีความพร้อมและความสามารถในการเข้าสู่อาชีพ นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีแรงจูงใจในการเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าตอบแทนหรือรายได้ที่เพิ่มขึ้น โอกาสในการเลื่อนขั้นในสายงาน และการหมุนเวียนการทำงานในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มประสบการณ์ เป็นต้น
รศ. ดร.สมภพ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีมากขึ้นจากในอดีต แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก จึงควรเร่งผลักดันให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งสามารถจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งหาเครื่องมือสร้างแรงจูงใจผู้เรียนให้สนใจศึกษาต่อในสายอาชีพมากขึ้น เนื่องจากตัวแปรที่ทำให้กลุ่มสายอาชีพมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ที่เรียนจบระดับอุดมศึกษา ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติและค่านิยมของสังคม
ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในรูปแบบอาชีวศึกษาทวิภาคี จะทำให้ผู้เรียนอาชีวศึกษามีสมรรถนะด้านอาชีพจากการฝึกงานหรือฝึกอาชีพในสถานประกอบการ นอกเหนือจากการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการสื่อสาร ฝึกปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทักษะฝีมือ ฯลฯ และมีโอกาสได้งานทำสูงเมื่อจบการศึกษา
“นับเป็นรูปแบบที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาให้ความสำคัญแต่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก สำหรับประเทศไทย พบว่ามีการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีแล้วร้อยละ 30 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในอดีต จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นให้มีคุณภาพ และขยายวงกว้างในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งให้สามารถจัดการเรียนการสอนระบบดังกล่าวได้อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการอาศัยความร่วมมือจากภาคต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจต่อผู้เรียน เพื่อให้เห็นความสำคัญของกลุ่มสายอาชีพมากยิ่งขึ้นต่อไป”
“สาเหตุที่จำนวนผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศ ที่เข้าศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา ยังคงมีน้อยกว่าผู้เรียนที่ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสนใจของตัวผู้เรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังประกอบไปด้วยหลายตัวแปร ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ลู่ทางการหางานในอนาคต รวมไปถึงทัศนคติต่อหลักสูตร และค่านิยมของสังคมที่มองว่าเด็กเก่งต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี”