มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ Advanced Technology Upskill Development Program for Smart Manufacturing 4.0 ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กับ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) (WD) โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ลงนามร่วมกับ นายฟิลิป เบอร์นาร์ด รองประธานอาวุโส บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) พร้อมกับผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน โอกาสนี้ นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมเป็นเกียรติในพิธีด้วย ณ ห้องประชุมอาคารนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว มีเนื้อหาที่ครอบคลุม 2 กลุ่มเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ ระบบอัตโนมัติ (Automation) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดยมีวิศวกร และ พนักงาน จากบริษัท WD เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ หลักสูตรในโครงการยังได้รับการลงทะเบียนในโครงการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพวิชาชีพระดับบัณฑิตศึกษา (Graduate Study for Potential Professionals หรือ GSPP) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผลการเรียนรู้ที่ได้จากโครงการนี้สามารถเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้เพียงพอจะต่อยอดในระดับปริญญาโทได้ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอชื่นชมในความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ที่มีความมุ่งมั่นผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะ รวมทั้งการผลิตบุคลากรให้มีความสามารถและทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเหล่านี้ล้วนรองรับความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรมไทยและผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการลงนามความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนิสิตภาคอุตสาหกรรม และประเทศชาติต่อไปในอนาคต”
นายฟิลิป เบอร์นาร์ด รองประธานอาวุโส บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่าง บริษัท Western Digital และมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 โดย บริษัท Western Digital ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีในกลุ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มาใช้ จนได้รับรางวัล Lighthouse จาก World Economic Forum เมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทของบริษัทในการเปลี่ยนอุตสาหกรรมจากการใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยขึ้น การผสานความรู้และประสบการณ์จากทั้งภาคอุตสาหกรรมและการศึกษานี้จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในประเทศไทยและระดับสากล ขอบคุณทีมงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ Western Digital ที่ร่วมมือกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ขอขอบคุณ BOI ที่สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศไทยและส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้โครงการดำเนินไปได้ด้วยดี และหวังว่าจะมีโอกาสร่วมมือในโครงการอื่นๆ ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต”
ด้าน ศ.ดร.วันชัย ยอดสุดใจ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความพร้อมและยินดีสนับสนุนบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ในการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อร่วมสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยได้รับความร่วมมือจากบัณฑิตวิทยาลัย มก. ความร่วมมือนี้จะช่วยให้ภาคการศึกษาสามารถสร้างหลักสูตรคุณภาพสูงและผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค”
รศ.ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข หัวหน้าโครงการการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการผลิตอัจฉริยะ 4.0 กล่าวว่า “หลักสูตรภายใต้โครงการนี้เกิดจากประสบการณ์จริง ในการทำวิจัยของห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ CMIT (CMIT Robotic Laboratory) ร่วมกับ บริษัท Western Digital และ ถูกนำมาออกแบบเป็นหลักสูตรร่วมกับทีมคณาจารย์จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการประยุกต์ใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ และขอขอบคุณ BOI ที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการนี้ หวังว่าโครงการนี้จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน และเกิดความยั่งยืนได้ในอนาคต”
นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า “BOI พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย โครงการนี้มีผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับมาตรฐานการศึกษา สร้างนวัตกรรม และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย”
การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างระบบการศึกษาในประเทศไทย แต่ยังเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งของการบูรณาการระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคและระดับโลก