</p>
คนไทยทำได้ รถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-2
ประลองสนาม World Solar Challenge 2017 ที่ออสเตรเลีย
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ส่งรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 ท้าชนมหาวิทยาลัยดังจากทั่วโลก โชว์ศักยภาพนักศึกษาและอาจารย์ชาวไทย ให้ทั่วโลกได้รู้จักด้วยการเข้าร่วมแข่งขัน World Solar Challenge 2017
การเดินทาง 3,022 กิโลเมตร ด้วยรถยนต์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว เป็นความท้าทายของทีมนักศึกษาและอาจารย์จากคณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ในการเข้าร่วมการแข่งขัน World Solar Challenge 2017 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-15 ต.ค.60 นี้ ที่ประเทศออสเตรเลีย
รายการแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์ สุดท้าทาย ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี โดยจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี
และปีนี้เป็นสมัยที่สอง ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เข้าร่วมการแข่งขัน World Solar Challenge โดยส่งรถเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 2 รุ่น คือ STC-2 เอดิสัน (STC-2 Edison) จะลงแข่งในรุ่น Challenger Class ซึ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพของรถ ความเร็ว ฯลฯ เกณฑ์การแข่งขันจะวัดกันที่ใครวิ่งถึงเส้นชัยก่อน
ส่วนคันที่สองคือ STC-2 นิโคล่า (STC-2 Nikola) จะลงแข่งขันในรุ่น Curiser โดยรุ่นนี้จะเน้นเรื่องการออกแบบรถให้สามารถใช้งานได้ จริงตามท้องถนน และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า 1 คน
อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า การที่ STC เข้าร่วมแข่งขัน World Solar Challenge เพราะเรามองว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพเป็นการเรียนรู้ผ่านการแข่งขันระดับโลก และยังใช้ศักยภาพทุกด้านของผู้เข้าแข่งขัน เพื่อก้าวไปยังจุดหมายที่วางเอาไว้ร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไข หรือกติกาต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
“เด็กไทยของเรามีฝีมือ มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จนสามารถเข้าร่วมในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างไม่น้อยหน้าชาติใด พวกเราทุกคนมีความภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสโบกธงชาติไทยเหนือเส้นชัยบนแผ่นดินเมืองเอดิเลต ออสเตรเลีย แม้การเดินทางของเราจะไม่ราบรื่นสมบูรณ์แบบมากนัก แต่พวกเราเป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรกที่ได้เดินตามความฝันจนสำเร็จ”
ด้าน ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี และ ผอ.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต กล่าวว่า การจุดประกายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสร้างเป็นผลงานรถพลังงานแสงอาทิตย์ เกิดจากท่านอธิการบดี ซึ่งเป็นผู้มีวิสัยทัศนยาวไกลมองเห็นสิ่งที่คณาจารย์และนักศึกษา จะได้รับจากการแข่งขันดังกล่าว ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากภายนอกห้องเรียน เปรียบเสมือนการขัดเกลา และเจียระไนเพชรเม็ดใหม่ ให้เกิดขึ้นจากนักศึกษาที่ไม่ประสีประสา ถูกเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่มีความรับผิดชอบ กล้าคิด กล้าทำ หรือกลายเป็นวิศวกร นักเทคโนโลยีที่มีคุณภาพในอนาคต
“นักศึกษาของเราสามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎี ที่เรียนรู้จากห้องเรียนไปสู่การปฎิบัติจริงได้ และพวกเขาจะไม่มีวันลืมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการเข้าร่วมแข่งขันไปตลอดชีวิต ความลำบากจากการเดินทาง ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ที่พบตลอดการสร้างรถ STC-1 และSTC-2 จะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง และก้าวเป็นพบเมืองคุณภาพของประเทศ”
ดร.ฐกฤต ยังกล่าวถึงการแข่งขันครั้งแรก ที่ขาดทั้งประสบการณ์ และความรู้ วันนี้ทีมงานได้นำประสบการณ์ครั้งนั้น มาพัฒนาเป็นรถ STC-2 ให้มีสมรรถนะในการขับขี่ และมีรูปลักษณ์ที่สวยงามมากขึ้นทำให้รถ STC-2 มีความแตกต่างและเหนือด้วยคุณภาพมากกว่าครั้งก่อน
“สำหรับรถ STC-1 นั้นเกิดจากความรู้ ที่เราศึกษากันเองผ่านอินเตอร์เน็ต ทีมงานลองผิดลองถูกจากการผลิตรถ STC-1 แม้ว่าการแข่งในครั้งนั้นจะไม่ได้รางวัลอะไรเลย แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือความชำนาญ และการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ซึ่งในปีนี้เรา ต้องเจอกับทีมมหาวิทยาลัยที่มีความชำนาญการแข่งขัน หรือมีงบฯ สนับสนุนที่มาก กว่าแต่เชื่อมั่นว่าประสบการณ์ครั้งก่อน จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น”ดร.ฐกฤต กล่าวอย่างเชื่อมั่น
ใครจะเชื่อว่าผู้แพ้อย่างรถ STC-1 กลับโดดเด่นในสายตาผู้ชนะ
ผู้ร่วมแข่งขันจากทั่วโลกต่างทึ่งไปกับ รถ STC-1 รถพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สร้างด้วยมือทำ พวกเขาทึ่งในฝีมือคนไทย ทึ่งกับสนนราคาที่ถูกกว่าหลายสิบเท่าตัว ด้วยต้นทุนเพียง350,000 บาท ขณะที่รถของผู้ร่วมแข่งขัน ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 8 ล้านบาท และสูงสุดที่ 40 ล้านบาท
สำหรับปัญหาของรถ STC-1 ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นในรถ STC-2 ทั้งเรื่องมอเตอร์ ที่ออกแบบใหม่ให้เหมาะกับการใช้งานในทะเลทราย ซึ่งมีอุณหภูมิสูงมากอาจทำให้เกิดความเสียหายระหว่างการแข่งขัน น้ำหนักของรถที่มากเกินไปจากชุดแบตเตอรี่ และโครงสร้างของรถซึ่งใน STC-2 ถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ระบบส่งถ่ายกำลังในการขับเคลื่อนซึ่งใน STC-1 พบว่ามีการสูญเสียพลังงานจำนวนมากจากระบบส่งถ่ายกำลัง ซึ่งใน STC-2 ได้รับการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมดเช่นกัน และสุดท้ายระบบกลไกในการเลี้ยวและเคลื่อนที่ ซึ่งรถ STC-2 จะมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ทีม STC วาดหวังย่อมเป็นรางวัลติดมือกลับบ้าน แต่เหนือกว่านั้นและถือเป็นความท้าทายที่สุด คือได้นำความรู้ ความสามารถของพวกเขาไปใช้ ได้วัดวิชาฝีมือเทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งนี่คือการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สุดท้าทาย… Learning by Doing
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ