เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
วันนี้(12 ต.ค.)ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ได้รับเอกสารยืนยันมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 7,094.97 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ การเสนอแผนการใช้เงินของ กสศ. ในครั้งนี้ เป็นไปตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งให้หน่วยรับงบประมาณต้องปรับปรุงคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณและนโยบายของรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่การเสนอทบทวนเนื่องจากถูกตีกลับแต่อย่างใด
ดร.ไกรยส กล่าวว่า สำหรับแผนการใช้เงินที่ ครม. เห็นชอบ ประกอบไปด้วย 9 แผนงาน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และแผนกลยุทธ์ กสศ. 2565-2567 ที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาไปตามขั้นตอนและปฏิทินการจัดทำงบประมาณ 2567
สำหรับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่เห็นชอบหลักการการปรับอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นการจัดสรรให้นักเรียนยากจนพิเศษใน 6 สังกัด (สพฐ., อปท., ตชด., พ.ศ., กทม. และ สช. (โรงเรียนเอกชนการกุศล) จากอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อปี ปรับเป็น 4,200 บาทต่อคนต่อปี โดยเป็นการปรับเพิ่มในลักษณะขั้นบันไดต่อเนื่อง 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 จนเต็มตามอัตราในปีการศึกษา 2569 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
“สำหรับจุดเน้นของการปรับอัตรา คือ ส่วนรายการค่าอาหารเช้า ซึ่งปัจจุบันไม่มีการจัดสรรเงินอุดหนุนในรายการนี้ผ่านหน่วยงานอื่น เนื่องจากจากผลการสำรวจของ กสศ. พบว่านักเรียนกลุ่มนี้มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่สมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 3-14 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตที่จะส่งผลไปตลอดชีวิต นอกจากนั้นจากผลงานวิจัยในระดับนานาชาติล้วนชี้ตรงกันว่าการสนับสนุนอาหารเช้าให้แก่นักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้ ลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา”
“ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของ กสศ. และหน่วยงานภาคีในการการลงทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อผลักดันให้เด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถพาครอบครัวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จในช่วงชีวิตของน้อง ๆ และได้โอกาสเป็นกำลังสำคัญในการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน”
ทั้งนี้ กสศ. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนการใช้เงินในปีงบประมาณ 2567 นี้ เพื่อป้องกันการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทาง โดยหนึ่งในข้อสรุปสำคัญจากเวทีรับฟังความคิดเห็นคือ กุญแจสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน คือการบูรณาการทำงานและทรัพยากรจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเอาเด็กเยาวชนเป็นตัวตั้ง การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจึงอาจเรียนได้ว่าเป็นการทำงานแบบ “หนุนเสริม” เพราะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำสำหรับเด็ก 1 คนแล้ว ครู และสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีทรัพยากรและความรู้ประสบการณ์จากหลายหน่วยงานในการจัดการกับต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากมายหลายมิติ เช่น ด้านสุขภาพ ครอบครัว สังคม และมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน อย่างไรก็ดี กสศ. ขอน้อมรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้การทำงานของ กสศ. และหน่วยงานภาคีให้ดียิ่งขึ้นในปีงบประมาณ 2567