ครม.ไฟเขียว 105 ล้านให้กรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์เอาชนะโควิด ด้าน ‘ครูธัญ ก้าวไกล ซัด รัฐทุ่มงบ 569 ล้านจ้างคนดังเชียร์รัฐบาลสะท้อนรัฐบาลเปราะบางและล้มเหลว ‘เพื่อไทย’ ฟังปัญหาเด็กไทยใน Twitter spaces พบค่าสอบเข้าคณะแพทย์ต้องจ่ายมากสุดเกือบ 2 หมื่นบาท ย้ำ ‘ค่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องเหลือ 0 บาท’
ครม.ไฟเขียว 105 ล้านให้กรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์เอาชนะโควิด
30 ส.ค.2564 วันนี้ (30 ส.ค.64) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์เสนอการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 105,592,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) สำหรับผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เฉพาะกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน (ภายในเดือนธันวาคม 2564) ก่อน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 2 กิจกรรม ดังนี้ 1. ผลิตและเผยแพร่ สปอตทางวิทยุ และโทรทัศน์ จำนวน 51,592,000 บาท 2. ผลิตและเผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณา Online จำนวน 54,000,000 บาท
ครูธัญ ก้าวไกล ซัด รัฐทุ่มงบ 569 ล้าน จ้างคนดังเชียร์รัฐบาลสะท้อนรัฐบาลเปราะบางและล้มเหลว
นอกจากนี้ ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารหลักฐานของกรมประชาสัมพันธ์เตรียมเสนอ ครม. งบ 569 ล้านจ้างคนดัง Influencer เชียร์รัฐบาล ซึ่งจากเอกสารมีรายชื่อซุปเปอร์สตาร์หลายคนที่อยู่ในลิสต์ เพื่อเผยแพร่เกี่ยวกับการผลิตสื่อของรัฐ และเมื่อพิจารณาตัวเลขของงบประมาณ จำนวน569 ล้านบาทเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงในการทำแคมเปญนี้คืออะไร รัฐได้อะไร ดาราได้อะไร และประชาชนได้อะไร
ธัญวัจน์ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณที่เกิดขึ้นสะท้อน ความเปราะบางของรัฐบาลและเชื่อว่าการสร้างการสื่อสารเช่นนี้จะยิ่งสร้างความเกลียดชังให้แก่ประชาชนและนำพาให้แฟนคลับของนักร้องดาราสิ้นศรัทธากับบุคคลที่เขาชื่นชอบไปเรื่อยๆ อีกทั้งการรับงานเช่นนี้ของดาราสะท้อนความกลัวและเอาตัวรอด ต้องไม่ลืมคิดว่าสภาพสังคมในขณะนี้เปลี่ยนไปแล้ว ชื่อเสียงเงินทองการได้รับการยอมรับจากคนที่ชื่นชอบผลงานควรแสดงออกด้วยความสำนึกร่วมกับประชาชนส่วนใหญ่ แน่นอนว่าเราไม่ได้บังคับใครออกมาคอลเอ้า แต่การที่คุณมีชื่อเสียงเงินทองมาได้ล้วนเกิดจากแรงสนับสนุนของประชาชนหากศิลปินหลายท่านตระหนักเรื่องนี้ตนคิดว่าการปฏิเสธที่จะสื่อสารร่วมกับรัฐบาลในลักษณะนี้น่าจะเป็นทางรอดเดียวของบรรดาคนมีชื่อเสียง
ในอนาคตหากสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น ประชาชนมีกำลังอุดหนุนผลงานของพวกคุณน่าจะเป็นความยั่งยืนและสร้างความภูมิใจในฐานะผู้ผลิตผลงาน ซึ่งการปรากฎตัวบนโปสเตอร์และสื่ออนไลน์ในการแสดงคอนเสริ์ตประชาชนก็คงนึกถึงความสนุกสนานของการแสดงดนตรีและผลงานเพลงที่สร้างความสุขน่าจะดีกว่า และหากย้อนกลับไปดูก็มีเหตุการณ์กับคนดังหลายท่านโต้ตอบกันหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งบางท่านก็แสดงจุดยืน บางท่านก็หาทางออกได้สวยงาม แต่บางท่านก็กลายเป็นกระแสตีกลับแฟนคลับแบน
อีกทั้งพื้นที่สื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน สามารถเป็นพื้นที่สำคัญของความคิดในสังคม หลายแพลตฟอร์มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีหลัง เพราะเป็นเนื้อหามาแบ่งปันกันจนเกิดการรวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ แต่วันนี้สื่อที่เป็นของประชาชนอาจถูก “เจือปน” ความคิดของ “รัฐ” ที่อนาคตเสพสื่อด้านใดก็คงอบอวลไปด้วยความคิดในกะลาแบบหาทางออกไม่ได้
นอกจากนี้ธัญวัจน์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวตนมองว่าโครงการนี้ประชาชนไม่ได้อะไรนอกจากรู้สึกถูกซ้ำเติมทั้งจากคนดังและรัฐ ส่วนดาราก็ได้เงินแต่แฟนคลับก็ไม่อิน ดารานักร้องก็ร้องกันไปเต้นกันไปเหมือนนายสั่ง ส่วนรัฐยิ่งไม่ได้อะไรเพราะการประชาสัมพันธ์แบบนี้ในสถานการณ์แบบนี้ยิ่งทำให้ประชาชนมองรัฐบาลแย่ลงไปอีก
ธัญวัจน์ เสนอต่อกรมประชาสัมพันธ์ว่า อย่าคิดสื่อสารเพียงแค่ความมั่นคงในประเทศ เพราะเดี๋ยวนี่ไม่มีใครเสพสื่อแบบนั้นแล้วน่าจะร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนทำงานบันเทิงสอดแทรกการประชาสัมพันธ์ประเทศ เลิกใช้วิธีสื่อสารแบบ “ควบคุม” แค่ให้ใช้แนวคิด “ขยายและต่อยอด” โดยใช้งบประมาณรัฐเปิดตลาดทั่วโลก สร้างงานสะท้อนชีวิตคนที่หลากหลาย บทเพลงที่ไพเราะ เพราะความสามารถของศิลปินนักร้องดาราไทยนั้นก็ทัดเทียมต่างประเทศ ขยายตลาดออกไปคนทำงานวงการบันเทิงไทยยิ่งได้เงิน ได้ทั้งชื่อเสียงและการต่อยอด แต่หากผลิตสื่อล้างสมองแล้วก็จะไม่ได้ทั้งเงิน ไม่ได้ชื่อเสียงและต่อยอดอะไรไม่ได้ พังพาบพังทลายไปกันหมด
‘ค่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องเหลือ 0 บาท’ เพื่อไทยฟังปัญหาเด็กไทยใน Twitter spaces พบค่าสอบเข้าคณะแพทย์ต้องจ่ายมากสุดเกือบ 2 หมื่นบาท
ทีมข่าวพรรคเพื่อไทย รายงานว่า อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการด้านการศึกษา วันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น โฆษกกรรมาธิการการศึกษา และชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกรณีค่าสมัครสอบ (TCAS) และปัญหาการศึกษาของไทยในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากตัวแทนนักเรียนกลุ่มชนราษฎร์ และตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในสเปซ ทวิตเตอร์ ซึ่งได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาในการจัดสอบเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในปีนี้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการสอบที่สูง โดยหากต้องการเข้าสอบเพื่อเรียนต่อคณะแพทย์ศาสตร์ จะมีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 3,710 บาทจนถึง 20,000 บาท ซึ่งถือว่าซ้ำเติมเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนหน่วยงานออกข้อสอบ และแจ้งผู้เข้าสอบในเวลากระชั้นชิด จากเดิมแจ้งผู้ออกข้อสอบล่วงหน้า 3 ปี ปัจจุบันแจ้งผู้ออกข้อสอบล่วงหน้าก่อนสอบ 3 เดือน ซึ่งทำให้เด็กเตรียมตัวไม่ทัน เป็นต้น
อรุณี กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะ กมธ. การศึกษา ได้เฝ้าติดตามปัญหาการศึกษาไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาโดยตลอด ตั้งแต่การสอบ TCAS ปี 2564 ต่อเนื่องจน ปี 2565 แต่เรื่องนี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น ทั้งการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสอบ และวิสัยทัศน์ของผู้จัดการศึกษาที่บั่นทอนเด็ก โดยที่ไม่เคยติดตามผลกระทบที่เกิดจากการเรียนออนไลน์เลย ซึ่งคาดว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ จะทำให้เด็กในครอบครัวยากจนกลุ่มล่างสุดของประเทศไทยเกือบ 100% ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้จากการรับฟังปัญหาต่างๆแล้ว เห็นว่าในภาวะการระบาดของโควิด-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) ควรหยุดเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้าสอบทุกประเภท ทุกกรณี หรือ ฟรีค่าสอบ 0 บาท เพื่อให้โอกาสในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นของเด็กไทยทุกคน นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์ หากจะมีวิสัยทัศน์และความคิดสักครั้ง ควรพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้เป็นระบบ Crowdsourcing (คราวด์ซอสซิ่ง) เพื่อให้เด็กเลือกเรียนได้ แม้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปกับระบบอินเทอร์เน็ตฟรีทุกบ้าน ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การใช้ชีวิตในยุค Next Normal หรือ ยุคหลังโควิด-19 ที่คนทั่วโลกจะต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ทั้งหมด
ชนินทร์ กล่าวว่า การวางระบบการสอบควรออกแบบให้มินิมอล เรียบง่าย ไม่ซำ้ซ้อน และมีความชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนและไม่สร้างภาระและความกังวลจนเกินไป แต่การจัดการสอบรอบนี้มีการจัดการหลายอย่างที่แสดงถึงความไม่เข้าใจเด็ก เช่น การปรับเปลี่ยนตัวผู้ออกข้อสอบและแจ้งแนวข้อสอบที่กระทันหันเกินไป, การเลือกสถานที่สอบด้วยระบบสุ่ม และการเก็บค่าสอบสูง ซำ้เติมปัญหาความเหลื่อมลํ้าของการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
วันนิวัติ กล่าวว่า การศึกษาควรเป็นการเปิดโอกาสเพื่อเอื้อให้เด็กได้เข้าร่วมคัดเลือกการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยความรู้เฉพาะทาง ต้องทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาให้ได้ทุกคน หรือมากที่สุด ไม่ใช่การตัดโอกาสแล้วคัดเด็กทิ้งออกไป ด้วยการคัดกรองด่านแรกคือความพร้อมทางการเงิน เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยให้ยิ่งห่างออก หากรัฐบาลนิ่งเฉย ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปในที่สุด และเมื่อถึงวันนั้นประเทศไทยจะถดถอยล้าหลังมากกว่าที่เกิดขึ้นในวันนี้