กุศโลบาย”รักใครให้อ่านเลย…”ยกผลสัมฤทธิ์ นร.ยางหล่อวิทยาคาร
“อยากให้อ่านหนังสือเรื่องนี้จังเลย”
“อ่านให้หน่อยนะ..รักนะจึงให้อ่าน”
“ครูอยากให้หนูอ่านเรื่อง..จังเลย”
“อ่านให้ครูหน่อยนะจ๊ะ..พรุ่งนี้เรามาคุยเรื่องนี้กัน”
ข้อความสั้นๆ ที่สร้างความรู้สึกดี ๆ จุดประกายการอ่านและพัฒนาไปสู่คุณลักษณะแห่งนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน “รักใครให้อ่านเลย…อาเซียน” ของโรงเรียนยางหล่อวิทยาคาร ต.ยางหล่อ อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) โรงเรียนแห่งนี้ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียน“ห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบ สพฐ.”รุ่นที่ 6 ประจำปี 2556
ครูปดิวรัดดา ศรีบุรินทร์ ครูบรรณารักษ์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย รร.ยางหล่อวิทยาคาร พูดถึงกิจกรรมรักใครให้อ่านเลย…อาเซียน เป็นกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้วยการสร้างเครือข่าย เพื่อกระตุ้นและ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และเตรียมความพร้อมในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้น ม.3 วิชาภาษาไทย และเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องอาเซียน และส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยมีครูบรรณารักษ์ และครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เป็นหลักในการดำเนินกิจกรรม
กิจกรรม “รักใครให้อ่านเลย…อาเซียน” เริ่มมาตั้งแต่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2556 (16 พ.ค.56) โดยมี ดร.วิมล ปานะถึก อดีต ผอ.รร.ยางหล่อวิทยาคาร เป็นผู้ริเริ่ม และได้รับการสานต่อกิจกรรมโดย ผอ.ธารา พิลาแสง ผอ.โรงเรียนคนปัจจุบัน โดยในช่วงปีแรกหนังสือที่เลือกนำมาสร้างเครือข่ายรักการอ่านนั้น เป็นหนังสืออะไรก็ได้ที่ชอบอ่าน และอยากจะส่งต่อให้ผู้อื่นได้อ่านด้วย และเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปลายปี 2558 หนังสือที่เลือกมาใช้จึงเป็นหนังสือเกี่ยวกับประเทศอาเซียน
“การส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้วยการสร้างเครือข่าย “รักใครให้อ่านเลย…อาเซียน” ทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว และประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ถือเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่าเกิดประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ไม่ต้องอาศัยงบฯ มากนัก เนื่องจากใช้หนังสือที่มีอยู่แล้วในห้องสมุดไม่กระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนปกติ เกิดความสุขเมื่อได้ทำ และยังเป็นการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้ทุกคนได้เป็นอย่างดี”
ครูปดิวรัดดา กล่าวอีกว่า รูปแบบในการสร้างและขยายเครือข่ายมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบจากแม่ข่ายลงสู่เครือข่ายด้วยระบบส่งต่อ (Forward system) โดยเริ่มต้นจากแม่ข่ายส่งต่อไปยังเครือข่าย เมื่อเครือข่ายอ่านแล้วก็จะส่งต่อไปยังเครือข่ายคนต่อ ๆ ไป เป็นระบบลูกโซ่ และรูปแบบจากแม่ข่ายลงสู่เครือข่ายด้วยระบบส่งกลับ (Backward system) โดยเริ่มต้นจากแม่ข่ายส่งต่อไปยังเครือข่าย เมื่อเครือข่ายอ่านแล้ว ก็จะส่งกลับไปยังแม่ข่าย และแม่ข่าย ก็จะส่งต่อให้เครือข่ายคนต่อไป เมื่อเครือข่ายคนต่อไปอ่านแล้วก็จะส่งกลับมายังแม่ข่าย ทำเช่นนี้ต่อเนื่องไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเครือข่ายคนอื่น ๆ ก็จะพัฒนาเป็นแม่ข่ายส่งให้เครือข่าย อย่างมีระบบ
“…เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ
ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน
ไม่ต้องอาศัยงบฯ มากนัก
เนื่องจากใช้หนังสือที่มีอยู่แล้ว…”
“จิรวัฒน์ เข็มทอง” นักเรียน ม.6 ถือเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่ทำกิจกรรมรักใครให้อ่านเลย สะท้อนว่า ตนเองเป็นยุวบรรณารักษ์ของห้องสมุดตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.1 และมีโอกาสได้ช่วยครูบรรณารักษ์ทำกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดอยู่เสมอ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เห็นว่ากิจกรรมรักใครให้อ่านเลยเป็นกิจกรรมบูรณาการให้เข้ากับการจัดการเรียนรู้ของทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและหลากหลายเป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับ “วิภาวดี นาคขุนทด” เป็นนักเรียนที่เคยไปชนะเลิศการประกวดแข่งขันกิจกรรมยุวบรรณารักษ์ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และได้รับรางวัลเหรียญเงิน ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 66 จ.หนองคาย บอกว่า ส่วนตัวแล้วชอบเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือเสมอๆ แต่ตั้งแต่มีกิจกรรมรักใครให้อ่านเลย ทำให้มีความสุขและสนุกในการสร้างเครือข่ายรักการอ่านมาก นำไปต่อยอดให้คนในครอบครัวได้เรียนรู้เรื่องภาษาอาเซียน ช่วยสร้างสานความสัมพันธ์อันดีทำให้ทุกคนรักกัน และมีความสุขในการอ่านและเรียนรู้ไปในตัวอีกด้วย และอยากจะให้คโรงเรียนดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ ตลอดไป
…ตลอด 5 ปีของกิจกรรม”รักใครให้อ่านเลย…อาเซียน” เกิดผลลัพท์ทางการศึกษาเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจของทุกคน
“โดยตัวชี้วัดถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจน คือนักเรียนชั้น ม.1-3 มีความสามารถอ่านคล่อง เขียนคล่องได้ร้อยละ 80 และนักเรียนชั้น ม.3 มีผลทดสอบ O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ปี 2557 เฉลี่ย 32.12, ปี 2558 เฉลี่ย 40.98 เพิ่มขึ้น 8.86 และปี 2559 เฉลี่ย 48.44 เพิ่มขึ้น 7.46 เป็นที่น่าพอใจและถือเป็นค่าคะแนนในการพัฒนานักเรียนให้มีคะแนนสูงขึ้นทุกปี” ผอ.ธารา พิลาแสง กล่าวทิ้งท้าย
—————–
(ขอบข้อมูลจาก “กฤตภาส ดวงไพชุม” นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพม.19)
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ