“ลงน้ำทุกครั้งต้องใส่ชูชีพ ต้องเลือกขนาดที่พอดีกับเราด้วย ถ้าเห็นคนจมน้ำ สิ่งแรกเลยต้องตะโกนดังๆ ให้คนมาช่วย ถ้าระยะใกล้ก็โยนแกลลอนหรือขวดน้ำ แล้วยื่นไม้ให้จับ แต่ถ้าระยะไกลคุณครูสอนให้โยนเชือกให้เขาค่ะ และห้ามกระโดดลงไปช่วยเด็ดขาด”
นี่คือบทสรุปการเรียนรู้ ด.ญ.ณิศรา โถงโฉม นักเรียนชั้น ป.1 รร.บ้านแก่งหว้าแก่งไฮ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก หนึ่งในนักเรียนที่เข้าฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำสำหรับเด็กเล็ก ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดีและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“สุวัฒน์ สายยืด” ผอ.รร.บ้านแก่งหว้าแก้งไฮ พูดถึงโครงการว่า โรงเรียนให้ความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุ และปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน จึงขอรับการสนับสนุนการฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำสำหรับเด็กเล็ก จากโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วมโครงการ “ว่ายน้ำเพื่อชีวิต” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำหรับชั้น ป.4-ป.5 แม้ว่าทางโรงเรียนไม่มีสระว่ายน้ำ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าของแพแก่งไฮ ในการนำเด็กไปฝึกที่อ่างเก็บน้ำ
“ในช่วงแรกต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และสร้างความมั่นใจว่ามีการเรียนการสอนและฝึกซ้อมอย่างปลอดภัย โดยเจ้าของแพ มาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด มีเสื้อชูชีพพร้อมอุปกรณ์ให้เด็กทุกคน นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมนอกสถานที่พาเด็กไปยังที่ต่างๆ ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สระว่ายน้ำของเอกชนในอำเภอ รวมถึงสวนสยามที่กรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้เรียนรู้ว่าสถานที่แบบไหนมีโอกาสเกิดอันตรายอย่างไรได้บ้าง ต้องระวังเรื่องอะไร สอนอย่างมีเหตุผล และให้มีประสบการณ์ตรง ส่วนในโรงเรียนตรงไหนที่เป็นจุดเสี่ยงก็ติดป้ายเตือนไว้ ครูให้ความรู้สอดแทรกในวิชาต่างๆ และมีระบบเฝ้าระวัง ให้ครูเวรคอยตรวจตราดูแล เราทำอย่างเต็มที่เท่าที่มีศักยภาพ อยากให้เด็กมีทักษะในการดูแลตัวเอง”
…สำหรับสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ จมน้ำ ส่วนใหญ่มาจากความไม่รู้ต่อความเสี่ยงของแหล่งน้ำ และไม่มีทักษะช่วยตนเอง หรือผู้อื่นเมื่อตกน้ำ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ฝึกเด็กๆ วัย 5-9 ปี หรือนักเรียนชั้น ป.1-ป.2 ให้มีทักษะความปลอดภัยทางน้ำ โดยเด็กๆ ต้องเรียนรู้ “ทักษะชีวิต” 5 ประการ คือ
ต้องรู้จักสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ, ฝึกและสามารถลอยตัวในน้ำได้นานอย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ, ฝึกให้สามารถเคลื่อนตัวในน้ำ เพื่อเข้าเกาะขอบฝั่งได้อย่างน้อย 15 เมตร, ฝึกให้ช่วยเหลือคนตกน้ำด้วยการ “ตะโกน-โยน-ยื่น” รวมทั้งรู้จักเตรียมอุปกรณ์พร้อมในการช่วยเหลือ และฝึกให้รู้ความสำคัญของชูชีพ สร้างนิสัยใส่ชูชีพก่อนทุกครั้งเมื่อมีกิจกรรมหรือเดินทางทางน้ำ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ