รร.เมืองกระบี่ใช้บันได 7 ขั้น สู่ต้นแบบโรงเรียนสิ่งแวดล้อม
ปริมาณขยะที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตระหนักถึงวิกฤติของปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงมีนโยบายให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังวินัยบริหารจัดการขยะ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่นักเรียน ให้เกิดเป็นจิตสำนึก เป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไร้ขยะโดยเริ่มต้นจากโรงเรียน
โรงเรียนเมืองกระบี่ จ.กระบี่ เป็นโรงเรียนตัวอย่างของการเป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา ที่เกิดจากความพร้อมเพรียงและความร่วมมือของทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู นักเรียน บุคลากรทุกคน รวมถึงชุมชน ท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามแนวทางสิ่งแวดล้อมศึกษา ที่สำคัญทุกคนมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง
ผอ.วสันต์ ปัญญา โรงเรียนเมืองกระบี่ กล่าวว่า โรงเรียนเมืองกระบี่ เป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(Eco-school) มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาที่จะให้ความรู้ ให้ทักษะ ประสบการณ์ แก่เด็กเยาวชน การจัดการทุกอย่างของโรงเรียนเมืองกระบี่ จึงเป็นการทำเพื่อสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศไทยและโลก เพื่อให้นักเรียนมีวินัยที่จะร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งการจะมีวินัยที่ยังยืนได้ ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนให้เด็กได้ฝึกฝน ได้ปฏิบัติ เป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือ Active Learning
โดยเริ่มจากการทำหลักสูตรที่เกิดจากครูทุกคน ลงไปศึกษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบบ้านตัวเอง และรอบโรงเรียน แล้วกลับมาร่างหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา จากนั้นนำไปสู่การออกแบบการสอนและกิจกรรมเพื่อนำไปฝึกฝนนักเรียนให้มีวินัยที่ยั่งยืน แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการคิด ปฏิบัติและประเมินผลด้วย
…จากแผนการเรียนรู้ไปสู่การความสำเร็จได้นั้น โรงเรียนมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งโรงเรียน คือ “1ห้องเรียน 1 ฐานการเรียนรู้” หมายความว่าโรงเรียนเมืองกระบี่ มี 51 ฐานการเรียนรู้ จาก 51 ห้องเรียน โดยครูและนักเรียนทุกห้อง จะมีพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองบนพื้นที่ 34ไร่ที่โรงเรียนมี โดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา 7 ขั้นตอนจัดกิจกรรม เพราะฉะนั้นนักเรียนโรงเรียนเมืองกระบี่ทุกคน จะมีส่วนร่วมคิดตั้งแต่เริ่มต้น โดยการศึกษาปัญหา วิเคราะห์แก้ปัญหา ทดลองตามกระบวนการจนประสบความสำเร็จและนำกลับไปสู่สังคม
“ตัวอย่างกรณีปัญหาน้ำเสียในชุมชน ซึ่งเด็กๆ ได้ลงเก็บข้อมูลจนพบว่า เนื่องจากเมืองกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ทุกสิ่งอย่างต้องเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว น้ำ ธรรมชาติต้องสะอาด แต่ชุมชนของโรงเรียนมีคลองกระบี่ใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการผลิตน้ำประปาให้แก่ชาวเมืองกระบี่ แต่สิ่งที่เป็นไป คือ น้ำเสียจากบ้านเรือน โรงงาน และโรงเรียน จะไหลลงสู่คลองแห่งนี้ เด็กๆ จึงนำข้อมูลกลับมาจำลองสังคมในโรงเรียนให้เป็นเมืองจำลอง ว่าจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร
…โดยเด็กๆ ค้นพบว่าน้ำเสียจากโรงเรียนส่วนหนึ่งมาจากโรงอาหาร ที่ยังไม่มีการคัดแยกขยะ มีเศษอาหาร มีไขมัน มีหลอดน้ำดื่ม ที่ไหลออกมาจนทำให้ท่อเกิดอุดตัน ซึ่งหากปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไปน้ำที่ไหลลงสู่คลองกระบี่ใหญ่ก็จะไม่มีวันใสสะอาดขึ้นมาได้ เด็กๆ จึงทำโครงการอย่างน้อย 2-3 ฐาน คือ ห้องหนึ่ง คิดเรื่องการดักจับไขมัน ขณะที่อีกห้อง คิดเรื่องการบำบัดน้ำเสีย และอีกห้อง ก็นำหลอดมาล้างแล้วประดิษฐ์เป็นไส้หมอนอิง เป็นต้น” ผอ.วสันต์ กล่าว
ขณะที่ครูอมรทัต เอียดศรีชาย ครูสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา มิติวิทยาศาสตร์ เล่าถึงการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาโดยใช้บันได 7 ขั้น โดยขั้นแรก เริ่มต้นสำรวจเพื่อหาประเด็นเรียนรู้ ด้วยการวิเคราะห์ระบบนิเวศน์เพื่อดูว่าพื้นที่นี้มีลักษณะภูมินิเวศน์อย่างไร ขั้นที่ 2 ความรู้พื้นฐานที่นักเรียนต้องค้นหา ซึ่งส่วนมากหาได้จากปราชญ์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือการสืบค้นข้อมูลจากหนังสือแลพอินเตอร์เน็ต
ขั้นที่ 3 วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นการวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ว่าหากยังดำเนินชีวิตอย่างนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม ขั้นที่ 4 นำไปสู่การเรียนรู้สถานการณ์ จากนั้นไปสู่ขั้นที่ 5 การวางแผน นักเรียนจะได้ฝึกออกแบบการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาโดยใช้ประเด็นเรียนรู้และความรู้ที่มีที่ผ่านการวิเคราะห์ที่กำหนดทางเลือกไว้แล้ว ขั้นที่ 6 ลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ และขั้นที่ 7 นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเผยแพร่ให้แก่สังคม เพื่อนโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ด้าน ครูอรนุช แก้ววิเศษ ครูสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา มิติสังคม อธิบายถึงการ ทดลองนำหลอดน้ำดื่มมาทำเป็นไส้หมอนว่า โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้ธนาคารขยะ แต่ความสำเร็จของธนาคารขยะไม่ใช่ทำอย่างไรให้ได้เงินจำนวนมาก แต่เป็นเรื่องของการลดปริมาณขยะ และนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดมากกว่า เช่น การที่นักเรียน ม.3/2 ที่เป็นเจ้าของฐานนวัตกรรมต่อยอด “หลอดเป็นหมอน”
“เด็กๆ พบว่าแต่ละวันมีปริมาณของหลอด ที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก อย่างที่โรงเรียนมีนักเรียน 1,700 คน แต่ละคนหากดื่มน้ำเพียงวันละขวดก็จะมีหลอดถูกทิ้งวันละ1,700หลอดเป็นอย่างน้อย และส่งผลทำให้ท่อน้ำทิ้งอุดตัน นักเรียนจึงนำปัญหานี้เข้าสู่กระบวนการบันได 7 ขั้น พบงานวิจัยหนึ่งระบุว่า หลอดมีคุณสมบัติยืนหยุ่นได้ ไม่จับฝุ่น ซักล้างได้ จึงทำการคัดแยกหลอดแล้วนำไปล้าง ตัด เพื่อทำเป็นไส้หมอนทั้งหมอนหนุน หมอนอิง โดยมีการออกแบบเพื่อความสวยงามและสะดวกในการใช้งาน
…เมื่อนำไปทดลองให้ผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุใช้ ปรากฏว่าได้ผลดี สามารถลดปัญหาแผลกดทับได้ และหมอนยังมีความยืดหยุ่นและระบายอาการได้ดีด้วย โดยขณะนี้เด็ก ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการบันไดขั้นที่ 7แล้ว นั่นคือการขยายผลสู่ชุมชน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้ เด็กๆ ยังสามารถนำไปต่อยอดสู่การเป็นอาชีพในอนาคตได้อีกด้วย”
นายพรปรีดา คงอ่อน ประธานชุมชนคู่เมือง กล่าวชื่นชมที่โรงเรียนจัดกิจกรรมนำเด็กๆ ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่างการให้เด็กมาศึกษาสภาพของป่าชายเลน ทำให้เด็กได้รับรู้ว่า ทำไมต้องจริงจังกับเรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลน จนทำให้เกิดความตระหนัก ถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
“การที่เด็กออกมาเรียนรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดี ผมเห็นด้วย 100% ว่าต้องปลูกฝังเด็กรุ่นนี้ เพราะเป็นวัยกำลังเรียนรู้ จนเกิดเป็นอุปนิสัยได้ และยังมีแรงที่จะช่วยพัฒนา ต่อยอด ทำให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และเอาใจใส่ที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อส่วนรวม” ประธานชุมชนคู่เมือง กล่าวทิ้งท้าย
…นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างการขับเคลื่อนเพื่อปลูกจิตสำนึกความมีวินัย การจัดการขยะ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้ติดตัวเด็กไปตลอดแม้จะพ้นจากโรงเรียนไปแล้ว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ