ขวัญชัย หาญประโคน จ.บุรีรัมย์
โรงเรียนบ้านหนองขวาง จ.บุรีรัมย์ ส่งเสริมนักเรียนแปรรูปกล้วย เป็นขนมกว่า 20 เมนูวางจำหน่ายตามงาน ทั้งมีแม่ค้าและหน่วยงานมารับซื้อประจำ สร้างรายได้เข้าโรงเรียนเดือนละ 4หมื่นบาท และเด็กมีรายได้ระหว่างเรียนคนละ 500 ต่อสัปดาห์ ทั้งยังสามารถต่อยอดประกอบอาชีพหลังเรียบจบได้
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.60 ที่ผ่านมา โรงเรียนบ้านหนองขวาง ต.พรสำราญ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 แปรรูปกล้วยเป็นขนมมากกว่า 20 เมนู อาทิ ขนมทองม้วนกรอบแป้งกล้วย, ทองม้วนสดแป้งกล้วย, ขนมครกแป้งกล้วย, กล้วยเบรกแตก, กล้วยตาก, กล้วยธัญญพืช, กระยาสารทกล้วย ทั้งยังคิดค้นสูตรแป้งกล้วยเป็นของตัวเองด้วย
ผอ.พงษ์ศักดิ์ และคุณครูบังอร แนะนำผลิตภัณฑ์กล้วยๆ
โดยขนมที่ทำก็จะให้นักเรียนนำไปวางขายตามงานต่างๆ ทั้งยังมีแม่ค้า หน่วยงานราชการ และโรงพยาบาลมาสั่งซื้อประจำ นำรายได้เข้าโรงเรียนเดือนละกว่า 40,000 บาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวจะแบ่งให้นักเรียนที่ทำขนมกว่า 20 คน เฉลี่ยคนละ 500 บาทต่อสัปดาห์ ส่วนที่เหลือก็จะนำไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับไว้สอนนักเรียนทำขนมหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ซึ่งการสอนเด็กแปรรูปกล้วยเป็นขนม นั้นสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธการ (ศธ.)ในการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และเพื่อให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ทั้งยังสามารถนำความรู้ไปต่อยอดทำเป็นอาชีพหลังจบการศึกษาได้อีกด้วย
คุณครูบังอร สร้อยสูงเนิน ผู้สอนนักเรียนทำขนม กล่าวว่าเริ่มแรกโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนทำขนมจากกล้วย เพื่อส่งเข้าร่วมแข่งขันทักษะความเป็นเลิศ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ทั้งระดับเขตและระดับชาติ จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ติดกัน 3 ปีซ้อน ทั้งยังได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปจำหน่ายในงานต่างๆ อีกด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับมีลูกค้ามาอุดหนุนซื้อไปรับประทานเป็นอย่างดี จึงเกิดแนวคิดที่จะส่งเสริมให้นักเรียนทำขาย เพื่อเป็นรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทั้งนี้ยังเป็นการฝึกทักษะฝีมือการทำขนม เพื่อให้เด็กได้นำความรู้ไปทำเป็นอาชีพในช่วงปิดภาคเรียน หรือหลังจบการศึกษาได้อีกด้วย
ด้าน “พงษ์ศักดิ์ พุทธลา” ผอ.โรงเรียนบ้านหนองขวาง กล่าวเสริมว่า ขนมทุกอย่างที่นักเรียนทำจะได้ค่าตอบแทน อาทิ ขนมทองม้วนกรอบแป้งกล้วย จะได้ค่าแรงร้อยละ 13บาท โดยจะให้นักเรียนทำช่วงหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้นักเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งเป็นการส่งเสริมให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญยังจะได้มีความรู้ติดตัว สามารถทำเป็นอาชีพหารายได้เสริมช่วงปิดภาคเรียน หรือหลังจบการศึกษาได้
อีกทั้งยังส่งผลสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะวัตถุหลักจะทำจาก “กล้วย” ซึ่งก็จะรับซื้อผู้ปกครองของนักเรียนในชุมชนนั้นเอง
———————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ