ครูร้องเรียนระบบลงทะเบียนคูปองครู..ไม่พร้อม พบบางหลักสูตรราคาเกิน10,000/กินเวลาราชการ/เดินทางไกล/ถูกเบี้ยวอบรม
เมื่อวันทีี่ 24 ก.ค.60 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูมีและเลื่อนวิทยฐานะ ว21/2560 และจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา เพื่อรับช่วงการพัฒนาครูแนวใหม่ โดยจัดหลักสูตรอบรมครูให้ครูสามารถเลือกหลักสูตรเข้ารับการอบรมได้ตามความต้องการ และมีการจัดงบประมาณในการอบรม หรือคูปองครู คนละ 10,000 บาทต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ก.ค.60 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีครูมากกว่า 300,000 คน ได้เข้าลงทะเบียนเข้ารับการอบรมตามโครงการดังกล่าวนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีครูจำนวนมากร้องเรียนเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการ และแนวปฏิบัติในการอบรม ซึ่งสร้างปัญหาและไม่เป็นการส่งเสริมให้ครูรับการพัฒนาได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เริ่มตั้งแต่ระบบการลงทะเบียนที่ไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมรองรับความต้องการของครู หลักสูตรที่ลงทะเบียนไปเมื่อถึงวันอบรมก็มีการเลื่อนหรือลดจำนวนวันที่อบรมลง เป็นต้น
“นอกจากนี้ ยังมีกรณีของค่าอบรมที่อาจจะสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น บางหลักสูตรไม่ถึง 10,000 บาท แต่ค่าอบรมก็จะคิดตามสิทธิที่ครูได้รับ คือหัวละ 10,000 บาท ขณะเดียวกันยังมีประประเด็นในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ระบุชัดเจนว่า งดเบิกค่าพาหนะส่วนตัว รวมถึงในการอบรม โรงเรียนส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้ครูลงทะเบียนอบรมหลักสูตรในวันราชการ ให้ลงได้เฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะถือเป็นการทิ้งเด็ก ทิ้งห้องเรียน ซึ่งประเด็นนี้ครูยอมรับได้ แต่การจัดการก็ควรมีระบบแก้ปัญหาให้ครูด้วย”แหล่งข่าว กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปิดการอบรมที่มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ที่จะเข้าอบรมบางคนต้องเดินทางมาไกล แต่พอมาถึงสถานที่อบรมกับไม่มีการอบรม ซึ่งไม่มีการแจ้งล่วงหน้าไว้มีการเลื่อนการอบรม ซึ่งทำให้ครูเสียเวลาในการเดินทาง มิหนำซ้ำบางแห่งยังปิดหลักสูตรอบรมไปเลยก็มี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีรายงานข่าวว่า ครูที่ลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 167,833 คน มีครูที่ยกเลิกลงทะเบียน 241,233 คน โดยมีงบประมาณที่ผ่านการอนุมัติแล้วกว่า 1,045 ล้านบาท งบฯ ที่รออนุมัติอีก 2,900 ล้านบาท และหน่วยงานจัดอบรมที่มีการลงทะเบียนมากที่สุด 5 อันดัน ได้แก่ 1.ศูนย์บริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) 60,842 ที่นั่ง 2.บริษัทอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด 25,910 ที่นั่ง 3.สมาคมนักธุรกิจเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ 20,189 ที่นั่ง 4.มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสนันทา 17,376 ที่นั่ง และ 5.วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา 13,304 ที่นั่ง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ