ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งชะลอการบังคับตามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่ “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ กับบริษัท บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค โดยศาลปกครองให้เหตุผลว่าในชั้นนี้ “ยังไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่ามติของผู้ถูกร้อง (กสทช.) น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
สอบ. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ขอให้เพิกถอนมติการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. เมื่อ 20 ต.ค. ซึ่งที่ประชุมมีมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวในการรวมกิจการของสองเอกชนยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่ง สอบ. เห็นว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ สอบ. ยังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการชะลอการบังคับใช้มติดังกล่าวจนกว่าจะศาลจะมีคำพิพากษา
นายสมชาย อามีน ทนายความที่เป็นตัวแทนของ สอบ. ในการฟ้องร้องคดี เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าได้รับหนังสือจากศาลปกครองเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. แจ้งให้ทราบว่า ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของ สอบ. ที่ขอให้ชะลอการบังคับใช้มติของ กสทช. จึงหมายความว่าทั้งทรูและดีแทคสามารถดำเนินการเกี่ยวกับการควบรวมกิจการต่อไปได้ในขณะนี้
“นี่เป็นคำสั่งที่ศาลไม่รับคำร้องขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ศาลยังไม่ได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี ดังนั้นประเด็นที่ว่ามติ กสทช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยังต้องพิจารณาต่อไป” นายสมชายกล่าว
ทั้งนี้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ทาง สอบ. ร้องขอต่อศาลปกครองมี 4 ประเด็น คือ
1. ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กสทช. เรื่องรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ในการประชุม กสทช. เมื่อ 20 ต.ค.
2. ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามหรือระงับการกระทำและนิติกรรมที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค
3. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชะลอหรือระงับการรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบบริษัทระหว่างทรูและดีแทคไว้
4. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชะลอหรือระงับการรับจดทะเบียนและการดำเนินการควบรวมบริษัททรูและดีแทคไว้
คำสั่งศาลปกครองลงวันที่ 9 ธ.ค. ลงนามโดยนายชัชชัย ยอดมาลัย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ตุลาการเจ้าของสำนวน มีความยาว 30 หน้า ได้วินิจฉัยทั้ง 4 ประเด็นข้างต้น ก่อนจะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
นายสมชายสรุปคำสั่งศาลปกครองให้บีบีซีไทยฟังว่า “ในชั้นนี้ ศาลเห็นว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) นัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค. 2565 ระเบียบวาระที่ 5.1 เรื่องการรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ กับบริษัท บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ที่รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททั้งสอง ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2560 ถูกต้องตามขั้นตอน หลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้แล้ว กรณีจึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”
อย่างไรก็ตาม ทางทนายความและ สอบ. อยู่ระหว่างอ่านรายละเอียดคำสั่งของศาลปกครองที่ยกคำร้องคำขอคุ้มครองชั่วคราว และจะประชุมกันเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ต่อไป
ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ไม่กระทบคดี
นายสมชายให้ความเห็นว่า การที่ศาลยกคำร้องขอ สอบ. ที่ขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษานั้น “เป็นเรื่องปกติและไม่กระทบกับคดี” เนื่องจาก สอบ. มีเอกสารและข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ากระบวนการและเนื้อหาของมติ กสทช. ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร
สำหรับกระบวนการต่อไปของคดีนี้ นายสมชายอธิบายว่า ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทั้งทรู ดีแทค และ กสทช. ยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 30 วัน ซึ่งคาดว่าทั้งสามองค์กรอยู่ระหว่างเตรียมคำให้การ แต่หากไม่ทันกำหนด 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดช่วงปลายเดือน ธ.ค. นี้ ก็สามารถขอขยายเวลายื่นคำให้การได้
“หลังจากที่ทั้งสามยื่นคำให้การต่อศาลแล้ว ศาลจะส่งคำให้การมาให้ สอบ. ในฐานะผู้ฟ้องคดี ทำหนังสือคัดค้านคำให้การของทรู ดีแทค และ กสทช. ว่าแต่ละประเด็นที่เขาให้การมานั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งศาลก็จะส่งคำคัดค้านคำให้การของฝ่ายผู้ฟ้องคดีไปให้ทรู ดีแทค และ กสทช. ยื่นคำให้การเพิ่มเติม เป็นการสู้กันด้วยเอกสาร”
นายสมชายกล่าวว่า ระหว่างนี้ศาลเปิดโอกาสให้ สอบ. และ กสทช. ยื่นเอกสารให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมได้ ซึ่งทาง สอบ. มีประเด็นที่จะยื่นเพิ่มเติมหลายประเด็น แต่ยังไม่ขอเปิดเผยในขณะนี้
จากดีลแสนล้านถึงคดีในศาลปกครอง
หลังจากเป็นข่าวลือมานานนับปี ประเด็น “ทรูซื้อดีแทค” กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งช่วงปลายปี 2564 เมื่อบริษัท เทเลนอร์ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทคยอมรับเมื่อเดือน พ.ย. 2564 ว่ากำลังมีการเจรจากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรูเกี่ยวกับการรวมกิจการจริง
ไม่กี่วันต่อมา ทรูได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 22 พ.ย. 2564 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบรวมบริษัทกับดีแทค พร้อมกับการเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข บริษัทยังได้พิจารณากำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นของทรูและผู้ถือหุ้นของดีแทค
การควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทคส่งผลให้ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อันดับที่ 2 อย่างทรู และอันดับที่ 3 อย่างดีแทครวมกันเป็นผู้เล่นรายเดียวและผงาดขึ้นเป็นรายใหญ่อันดับหนึ่ง แซงหน้าเจ้าตลาดเดิมอย่างเอไอเอส และทำให้มีผู้เล่นเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลง และท้ายสุดผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือผู้บริโภค
วันที่ 20 ต.ค. 2565 การควบรวมกิจการคืบหน้าไปอีกขั้นเมื่อ กสทช. มีมติ “รับทราบ” การรวมกิจการของทรูและดีแทค ภายใต้เงื่อนไงและมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค การแข่งขัน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
เอกสารข่าวเผยแพร่ของกสทช. ระบุว่า ที่ประชุมบอร์ดใช้เวลากว่า 11 ชั่วโมง กว่าจะได้ข้อยุติ โดยศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ กสทช. ใช้สิทธิประธาน รับทราบการควบรวม หลังเสียงเห็นชอบและค้านเสมอกันที่ 2:2 และงดออกเสียง 1 เสียง
“ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ) มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” เอกสารข่าวเผยแพร่ระบุ
“อนึ่ง เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด”
มติเสียงข้างมาก คือ ประธาน และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสียงข้างน้อยคือ ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย ส่วนผู้งดออกเสียง คือ พลอากาศโท ดร. ธนพันธ์ หร่ายเจริญ
10 พ.ย. 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองให้เพิกถอนมติ “รับทราบ” การควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค พร้อมกับขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใน 4 ประเด็น เพื่อลดผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยและผู้บริโภค จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา โดยในคำฟ้องระบุว่า มตินี้เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการเนื่องจาก
- ก่อนมีการลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อนกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ
- มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีจำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมายเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด
- ก่อนการลงมติคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการรับฟังรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศที่ทางสำนักงาน กสทช.ได้ว่าจ้าง
- ในการลงมติฯ ประธานได้ออกเสียงชี้ขาดขัดต่อระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555
- เนื้อหาของมติดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ขัดต่อข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่ระบุถึงอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ไว้อย่างชัดแจ้ง โดยในการลงมติจะต้องเป็นการอนุญาต หรือไม่อนุญาตเท่านั้น