ช่วงเวลาที่หลายคนรอคอยมาถึง วันหยุดยาวที่จะได้กลับบ้าน พบเจอผู้คนที่คิดถึงและไม่ได้เจอกันแรมปี หรือไปเที่ยวกับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรัก หรืออยู่บ้านพักผ่อนสบายๆ หลังจากวุ่นกับการทำงานหนักมาทั้งปี
ไม่ว่าเป้าหมายช่วงสิ้นปีนี้จะเป็นอะไร ความสุขที่คุณรอคอยอยู่ตรงหน้าแล้ว เพียงแต่ดูแลการเดินทางให้ไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยเท่านั้น
แต่ทุกปี มีบางคนไปไม่ถึงจุดหมาย แม้ที่ผ่านมา หลายองค์กรออกมาตรการเฝ้าระวังในช่วง 7 วันอันตราย รณรงค์ให้ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนมีสติระหว่างขับขี่ หากข่าวสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ยังคงสูง
สถิติอุบัติเหตุจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระบุว่า ในช่วงต้นปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 423 ราย และบาดเจ็บ 4,005 คน ซึ่งลดลงไปร้อยละ 1.49 จากปีก่อน กระนั้นหลายองค์กรยังหวังให้ตัวเลขเหล่านี้ลดลงอีก เพราะอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงและป้องกันได้
รศ. ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงปัจจัยหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า การกวดขันเรื่องการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็งพอ พฤติกรรมการขับขี่ของคนไทยเองก็ยังไม่เข้มงวดกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบจราจรนัก ฝ่าฝืนสัญญาณหรือป้ายจราจรต่างๆ และที่สำคัญคือ พฤติกรรมการดื่มสุรา ที่มักพ่วงไปกับการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เป็นเหตุให้ขับขี่รถเร็วขึ้นและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งทำให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงขึ้น
ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาวด้วยแล้ว พฤติกรรมการดื่มสุราก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่เวลาและปริมาณการดื่ม อันนำไปสู่อัตราการเกิดอุบัติเหตุที่สูงและรุนแรงขึ้นตามมา
ผศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า ในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ คนจะดื่มสุรานานและหนักขึ้น เช่น จากเดิมอาจจะดื่มสัก 1 ชม. แต่ในเทศกาลปีใหม่ก็จะดื่มนานขึ้นเป็น 2-3 ชม. ส่วนมากจะเริ่มดื่มหลังเลิกงานวันแรกที่เป็นวันหยุด และดื่มยาวต่อเนื่อง
สำหรับห้วงเวลาและพื้นที่ที่มักเกิดอุบัติเหตุ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ จากสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนมักเกิดขึ้นในช่วง 18.00 – 21.00 น. และ 00.00 – 03.00 น. ส่วนใหญ่เกิดบนถนนที่ไม่ใช่สายหลัก และมักจะเกิดอุบัติเหตุใกล้ๆ บ้านของผู้ประสบเหตุในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายหรืออาสาป้องกันอุบัติเหตุ ที่จะตั้งด่านตรวจจับผู้ที่ดื่มแล้วขับในพื้นที่ถนนสายรอง หรือในห้วงเวลาที่มักเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ขับขี่บนท้องถนนที่ไม่ดื่ม ก็ควรใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้นในการใช้ถนนในห้วงเวลาดังกล่าวด้วย
อีกประเด็นสำคัญที่รศ. ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ห่วงใยคือกลุ่มประชากรเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ พบว่า ส่วนมากเป็นวัยรุ่นเพศชาย อายุ 15 – 25 ปี
“หากเราช่วยกันรณรงค์ให้เยาวชนกลุ่มนี้ “เมาไม่ขับ” และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อครอบครัวและประเทศชาติคงลดลงได้มาก”
สำหรับผู้ที่เห็นว่าการดื่มสุราในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ยังเป็นเรื่องจำเป็น รองผอ.สถาบันวิจัยปัญหาสุรา จุฬาฯ แนะนำให้ดื่มในปริมาณและอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด
“หากรู้ตัวว่าจำกัดการดื่มเหล้าของตนเองไม่ได้ ก็ควรจำกัดการดื่มให้พอประมาณ จะได้ไม่ต้องขับรถออกไปซื้อเพิ่มในช่วงที่เมา ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็ควรมีผู้ที่ไม่ดื่มสุราดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรเมาพร้อมกันทุกคน และที่สำคัญ คนที่ไม่ดื่มสุราต้องระวังตัวให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะคนที่เมาอย่างไรก็ไม่มีสติ เราจะจัดการกับคนที่ไม่มีสติได้ยาก ถ้ามีคนที่ดื่มสุราในครอบครัวก็ควรช่วยกันสอดส่องดูแลให้ดี”
นอกจากการควบคุมพฤติกรรมการดื่มสุราแล้ว ผู้ใช้รถใช้ถนน ไม่ว่าจะเป็นผู้ดื่มหรือไม่ดื่มก็ตาม คำแนะนำสำคัญที่สุดคือ “มีสติในการเดินทาง มีการวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบ และตรวจสภาพรถก่อนออกเดินทางไกล” ผศ.ดร.นพพล กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ