-- advertisement --

3 มิถุนายน 2564 | โดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ | คอลัมน์มองมุมใหม่

13

เปิดบทวิเคราะห์ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 สำหรับภาคการศึกษาของไทย ที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่ได้แค่เพียงเปลี่ยนสถานที่เรียนจากสถานศึกษาไปเรียนผ่านออนไลน์ที่บ้านเท่านั้น แต่กระทบปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ด้วย

ช่วงนี้ควรเป็นช่วงของความคึกคักในแวดวงการศึกษาของไทย นิสิตนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายเพิ่งสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตจบใหม่ ขณะที่น้องๆ ม.6 ก็เฉลิมฉลองกับข่าวดีของการได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย และในอีกไม่กี่วันข้างหน้าภาคการศึกษาใหม่ของโรงเรียนทั่วประเทศก็จะเริ่ม อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระดับใดก็ตามสิ่งที่เหมือนกันและน่าเศร้าสำหรับผู้เรียนในรุ่นนี้คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19

หลายท่านอาจจะมองว่า สำหรับเด็กๆ ผลกระทบของโควิด-19 นั้นก็เป็นเพียงแค่เปลี่ยนสถานที่เรียนจากสถานศึกษาไปเรียนผ่านออนไลน์ที่บ้านเท่านั้น แต่ถ้าได้พูดคุยกับเจ้าตัวหรือผู้เกี่ยวข้องจริงๆ จะพบว่าผลของโควิด-19 ต่อชีวิตการเรียนรู้นั้นไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนสถานที่เรียนเท่านั้น

การมาเรียนหนังสือนั้นไม่ใช่เพียงแค่จะได้รับแต่ความรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่การได้พบเจอพูดคุยกับครูอาจารย์และเพื่อนๆ ระหว่างวันหรือระหว่างเวลาเรียน การได้จัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ การได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ นอกห้องเรียน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยหล่อหลอมบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาในสังคม

ทุกท่านลองย้อนกลับไปนึกถึงชีวิตในวัยเรียนของท่านดู แล้วจะพบว่าเมื่อนึกถึงความทรงจำสมัยวัยเรียนส่วนใหญ่ จะเป็นความทรงจำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียนมากกว่าความรู้ที่ได้รับในห้องเรียน

ผู้ปกครองนิสิตจุฬาฯ ที่บุตรหลานเข้าปี 1 เมื่อปีที่แล้วมาเล่าให้ฟังว่า ลูกเขารู้สึกเศร้ามากที่ซื้อชุดนิสิตปี 1 มาแต่แทบไม่มีโอกาสได้ใส่เลย ขณะที่นิสิตชั้นปี 4 ก็มาเล่าให้ฟังด้วยความรู้สึกเศร้าเช่นกันว่าชีวิตปี 4 ในรั้วมหาวิทยาลัยได้สูญหายไป กิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าอยากจะเข้าร่วมก็ไม่เกิดขึ้น ชีวิตในปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยที่หวังจะได้ใช้กับเพื่อนๆ อย่างเต็มที่ก็เปลี่ยนมาเป็นชีวิตออนไลน์แทน ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนต่างมีความรู้สึกว่าตนเองได้สูญเสียประสบการณ์ในวัยเรียนหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้ และเป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถจะควบคุมหรือทำอะไรได้อีกด้วย

ถึงแม้การเปลี่ยนมาใช้ชีวิตในช่วงวัยเรียนมาเรียนออนไลน์จะมีข้อดีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เด็กๆ ได้มีเวลาในการนอนมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลารถติดอย่างยาวนานอยู่บนท้องถนน มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หรือ บางคนก็ใช้เวลาที่มีอยู่ไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แต่ความสูญเสียในประสบการณ์หรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนก็เป็นสิ่งที่ยากจะทดแทนได้

นอกจากนี้ยังพบว่าการเรียนออนไลน์ที่บ้านโดยลำพังของเด็กๆ ในยุคโควิด-19 จะส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการในด้านการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนรอบข้าง พบว่าในสหรัฐที่เริ่มเปิดให้มีการกลับไปเรียนในห้องเรียนก็มีเด็กระดับมัธยมปลายให้สัมภาษณ์เลยว่า หลังจากเรียนออนไลน์มา 1 ปี เมื่อกลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง จะมีความรู้แปลกๆ และไม่รู้จะคุยในเรื่องอะไรกับคนที่มานั่งข้างๆ

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ปกครองหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญเสริมสำหรับบุตรหลานที่อยู่ในวัยเรียน ก็คือการสร้าง “ทักษะทางสังคม” ให้กับบุตรหลาน จริงอยู่ว่าถึงแม้ว่าเมื่อเรียนที่บ้านจะมีครอบครัวและญาติๆ อยู่ด้วย แต่สิ่งที่ขาดคือโอกาสในการฝึกฝนและสร้างทักษะทางสังคมกับผู้อื่นที่ไม่คุ้นเคย

สำหรับเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงวัยเรียนที่เติบโตมาในยุคโควิด-19 จะน่าเป็นห่วงในเรื่องของการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และประสบการณ์ต่างๆ นอกห้องเรียน ซึ่งจะเป็นทักษะและประสบการณ์ที่สำคัญที่จะหล่อหลอมเขาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาและเสริมสร้างเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มีเด็กรุ่นใหม่เคยมาสารภาพว่าการเรียนออนไลน์ของเขานั้นเป็นเพียงแค่การเรียนเพื่อสอบให้ผ่านเท่านั้น ไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไรเลย

คำถามคือแล้วจะหาแนวทางหรือวิธีการอย่างไรที่จะชดเชยสิ่งที่สูญเสียไปให้กับเด็กรุ่นนี้

-- advertisement --