บทความโดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยลัยสวนดุสิต
“ดัชนีความเชื่อมั่นครู” อันเป็นดัชนีซึ่งมีตัวชี้วัด 30 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อครูไทย ทั้งในด้านส่วนตัว ชุมชน และการพัฒนาวิชาชีพ ตลอดจนพัฒนาประเทศนั้น เริ่มมีการสำรวจครั้งแรก โดย “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในปี 2552 จวบจนปัจจุบันปี 2559 ก็นับเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 8 ปี ที่ได้มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นพัฒนาการความเห็นคิดของประชาชนที่มีต่อครูได้ค่อนข้างชัดเจน…
การสำรวจอย่างต่อเนื่องของ “ดัชนีความเชื่อมั่นครูไทย” จนดูเหมือนเป็น “ประเพณีทางวงการการศึกษา” นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของ “ครู” ในฐานะของการเป็น “วิชาชีพ” ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและทรัพยากรมนุษย์อันเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อครู หรือความคิดเห็น ต่อ “ครู” ในสายตา “ประชาชน” ได้ในอีกหนึ่งมิติอีกด้วย
ผลการสำรวจใน ปี 2552 มีคะแนนเฉลี่ย 7.44 ปี 2553 มีคะแนนเฉลี่ย 7.83 ปี 2554 มีคะแนนเฉลี่ย 7.85 ปี 2555 มีคะแนนเฉลี่ย 7.86 ปี 2556 มีคะแนนเฉลี่ย 7.80 ผลสำรวจของปี 2557 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 7.58 ผลสำรวจของปี 2558 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 7.43 และไม่นานมานี้ได้มีการเปิดเผย ผลสำรวจของปี 2559 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 7.71 จากคะแนนเต็ม 10
เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยของปี 2559 แล้ว เชื่อว่า “ครู” อาจจะรู้สึกชื่นอกชื่นใจขึ้นบ้าง เนื่องจากหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้จะพบว่าความเชื่อมั่นครูไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3ปี แต่อย่างไรก็ตามครูไทยคงไม่อาจพึงพอใจกับคะแนนที่ได้รับ และยังคงต้องมุ่งมั่น ตั้งอกตั้งใจทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาด้านการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ต้องหวังพึ่งพาครูให้เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการแก้ไขและขับเคลื่อนการศึกษาไทย
ทั้งนี้ จากผลสำรวจ “ความเชื่อมั่นครู” ปี 2559ทำให้พบว่าดัชนีที่มีคะแนนสูงสุด และต่ำสุด 3 ลำดับ ดังต่อไปนี้ ดัชนีที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บุคลิกภาพ การแต่งกายเหมาะสมกับอาชีพ คะแนนเฉลี่ย 8.11 รองลงมา ได้แก่ ความขยันขันแข็ง อดทน คะแนนเฉลี่ย 7.99 และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เข้ากับชุมชนและชาวบ้านได้ คะแนนเฉลี่ย 7.88
ขณะที่ดัชนีที่มีคะแนนต่ำสุด 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ คือ การไม่เป็นหนี้เป็นสิน เป็นประเด็นที่มีคะแนนเฉลี่ย 7.16 การแสดงออกทางอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ มีคะแนนเฉลี่ย 7.33 และการใช้วาจา คำพูดกับนักเรียน มีคะแนนเฉลี่ย 7.48
“จุดเด่น” ของ “ครูไทย” ในปี 2559 ที่ประชาชนตอบมากที่สุด ร้อยละ 28.27 คือ มีความเสียสละ อดทน รองลงมา ได้แก่ การมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ร้อยละ 22.62 เป็นอาชีพที่น่ายกย่อง ได้รับการยอมรับในสังคม ร้อยละ 21.05 มีการพัฒนาตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ร้อยละ14.31และใจดี มีเมตตา ร้อยละ 13.75
“จุดด้อย” ของ “ครูไทย” ในปี 2559 ที่ประชาชนตอบมากที่สุด ร้อยละ 34.28 คือ การควบคุมอารมณ์ รองลงมา ได้แก่ เป็นหนี้ เงินเดือนน้อย ร้อยละ 18.17 ภาระงานมาก ไม่มีเวลา ร้อยละ 16.48 สอนไม่เก่ง ขาดเทคนิคการสอน ร้อยละ 16.25 และไม่เก่งภาษา ร้อยละ 14.82
แม้คะแนนเฉลี่ยของดัชนีครูจะมีคะแนนค่อนข้างสูง แต่ในเบื้องลึกก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า อันดับคะแนนสูงสุดและต่ำสุดนั้น ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึง “จุดเด่น” และ “จุดด้อย” ในสายตาประชาชน ซึ่งในประเด็นที่เป็น “จุดเด่น” ก็จำเป็นจะต้องรักษาให้คงอยู่ต่อไป ส่วนประเด็นที่เป็น “จุดด้อย” ก็ต้องแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด
จุดด้อยของครูในสายตาประชาชน ทั้งการควบคุมอารมณ์ ปัญหาหนี้สินครูที่ดูเหมือนจะเป็นภาพลักษณ์ที่ทอดยาวเป็นเงาตามครูมาอย่างยาวนาน การมีภาระงานมาก ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างเต็มที่ การขาดการพัฒนาเทคนิคการสอนใหม่ๆ ทำให้สอนและถ่ายทอดได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรือแม้แต่การไม่เก่งภาษา ความไม่สันทัดในการใช้ภาษาต่างประเทศ ล้วนเป็น “จุดด้อย” ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะคงต้องยอมรับว่า “ครู” ถือเป็นอาชีพที่เป็นมากกว่าอาชีพ ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของความเป็นวิชาชีพที่เป็นแบบอย่างของความดีงามให้สมกับการเป็น “พ่อพิมพ์…แม่พิมพ์…ต้นแบบที่ดีของสังคม”
ที่ผ่านมา “ครู” มักจะถูกจับจ้อง ถูกคาดหวัง ตลอดจนต้องแบกรับบทบาทหน้าที่ในการเป็น “เสาหลัก” ของการพัฒนาสังคมและประเทศ แต่ปัญหาของครูในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นความเครียด หนี้สิน หรือแม้แต่สุขภาพ ใครบ้างเล่าจะสนใจ…?? แล้วหากมองเลยไปถึงแนวทางการพัฒนาครูอย่างยั่งยืนซึ่งต้องมองในมิติที่มากกว่า 360 องศา ทั้งด้านการผลิตครู การใช้ครู รวมถึงการพัฒนาครู ก็ยิ่งดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่ใครจะเข้าใจปัญหาครูอย่างแท้จริง
แต่ก็ยังดีที่ ณ วันนี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีความตั้งใจจริงและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปครู ผนวกกับแนวทางการพัฒนาครูที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนส่งไม้มาถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งมั่นจะพัฒนา “ครู” จากบุคคลที่มี “อาชีพครู” ให้เป็น “ครูมืออาชีพ” จนทำให้เกิดเป็น “ครูอาชีพ” โดยเนื้อแท้ ก็น่าจะทำให้ “วันครู ปี 2560” ครูทั่วประเทศมีโอกาสจะได้เห็นแนวทางพัฒนาครู ที่เปรียบเสมือนเป็น “ของขวัญของครู” อย่างแท้จริงเสียที
เมื่อรัฐบาลเข้าใจปัญหา และมุ่งพัฒนา “ครู” ได้ถูกทางแล้ว เชื่อว่าการจะทำให้คะแนน “ดัชนีความเชื่อมั่นครูไทย 60” เพิ่มสูงขึ้น คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับครู…จริงไหม?
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ