สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ยังคงอยู่กับงานเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้” ว่าด้วยความพยายามทลายข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อเสาร์ที่แล้ว มีกรณีศึกษาที่ จ.บุรีรัมย์ และจ.ศรีสะเกษ ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ส่วนสัปดาห์นี้จะไปกันที่ 2 โรงเรียนตัวอย่างในพื้นที่ จ.ระยอง
ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถนนกะเพรา ตั้งอยู่ใน อ.แกลง กล่าวว่า ก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 โรงเรียนได้ส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละช่วงชั้น เรียนรู้วิชาชีพที่มีอยู่ในชุมชนอยู่ก่อนแล้ว เช่น การเลี้ยงเห็ด การปลูกผักสมุนไพรท้องถิ่น การเลี้ยงหอยนางรม การทำน้ำปลา รวมถึงการทำหอยจ้อ ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงสนับสนุนให้ครูนำแผนการสอนเดิมมาปรับปรุงเข้ากับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับครู
“ผู้บริหารจะคิดเองคนเดียวไม่ได้ ต้องมีครู และมีผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย ในช่วงต้นครูต้องปรับตัว และใช้พลังสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครอง เราใช้ความจริงใจ ความพยายามและความอดทน ตอนที่ผู้ปกครองยังไม่ตอบสนองกลับมา ใช้คำถามกระตุ้นเหมือนผู้ปกครองเป็นนักเรียนคนหนึ่ง ทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนยังเอาใจใส่ ไม่ได้ทิ้งให้พ่อแม่จัดการเพียงลำพัง การสื่อสารระหว่างครูและผู้ปกครองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ผู้ปกครองกลับไปเป็นโค้ชช่วยให้ลูกสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ต่อ” ผอ.ปวีณา กล่าว
ขณะที่ วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน ตั้งอยู่ใน อ.บ้านค่าย กล่าวว่า แม้โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเมือง ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตรแต่โรงเรียนยังมีความเป็นชนบท เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติรอบโรงเรียนอยู่พอสมควร เช่น แหล่งน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สิ่งที่โรงเรียนทำเป็นลำดับแรก คือ การวิเคราะห์นักเรียนแต่ละชั้น แต่ละบุคคลเพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียน ผ่านเกณฑ์พิจารณา ดังนี้
1.นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ เข้าเรียนและส่งงานทางออนไลน์เพื่อให้ครูตรวจสอบและแก้ไขได้2.นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ โดยมีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง แต่มีปัญหาค่าบริการอินเตอร์เนต โรงเรียนให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน แนะนำแพ็กเกจอินตอร์เนตให้ 3.นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินตอร์เนตได้ โดยมีสมาร์ทโฟนของผู้ปกครอง และต้องรอเวลาที่อยู่กับผู้ปกครอง ครูเน้นให้นักเรียนเรียนแบบ On demand และ On Hand พร้อมส่งคลิปการเรียนให้ผู้ปกครองแนะนำนักเรียน
และ 4.ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ ไม่มีสมาร์ทโฟน และฐานะยากจน ครูสื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองผ่านโทรศัพท์ เน้นการเรียนแบบ On Hand ให้นักเรียนมารับเอกสารและใบงาน พร้อมคำอธิบายจากครู นอกจากนี้ ผู้บริหารยังชวนครูวิเคราะห์พื้นฐานความถนัดและความต้องการ เพื่อวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน วิเคราะห์บทบาทของผู้บริหารเพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูออกแบบการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่
รวมทั้งจัดประชุมผู้ปกครองแต่ละชั้นเรียน เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการดูแล ช่วยเหลือให้นักเรียนเรียนที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ สำหรับรูปแบบการเรียนในชั้นเรียน ยกตัวอย่างการเรียนระดับปฐมวัย ครูออกแบบการเรียนรู้เกี่ยวกับฤดูกาล โดยครูเป็นผู้แนะนำวิธีการให้ผู้ปกครองเข้ามาช่วยเหลือนักเรียนที่บ้าน และฝึกวินัยด้านการช่วยเหลือตนเองแก่นักเรียนผ่านกิจวัตรประจำวัน เช่น งานบ้านและงานครัว
กลับมาที่ กรุงเทพฯ ในตัวอย่างของ โรงเรียนรุ่งอรุณ โดยผู้อำนวยการของที่นี่ สกุณี บุญญะบัญชา ให้ความเห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ครูจำเป็นต้องปรับวิธีการตั้งโจทย์และตั้งคำถามผู้เรียนให้กระชับตรงประเด็น และตอบจุดประสงค์เชิงสมรรถนะ ทั้งความรู้ทักษะและคุณค่า ที่ประเมินผลลัพธ์ได้ชัดเจน เช่น การประเมินผ่านการทำงาน การพูดคุยสื่อสารระหว่าง
ครูกับนักเรียน
ดังนั้น การใช้คำถามที่มีความจงใจดึงสมรรถนะของผู้เรียนออกมา เป็นประเด็นที่ครูต้องนำมาคิดร่วมกัน คำถามตั้งต้นอาจมีที่มาจากคำถามกว้างๆ ก่อน แล้วมาเจาะลึกตั้งประเด็นย่อย เพื่อสร้างประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มากที่สุด ซึ่ง “PLC (Professional Learning Community)” หรือ “ชุมชนการเรียนรู้” ของคณะครูมีทั้งการประชุมกลุ่มย่อยตามระดับชั้น ตามรายวิชา และกลุ่มใหญ่หลายระดับชั้นและหลายวิชา เพื่อทำความเข้าใจและออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน
“PLC เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำงานวิชาการในโรงเรียน เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดิมหรือเรื่องใหม่ การได้มาแลกเปลี่ยนกันจะทำให้ได้ประเด็นที่แหลมคมมากขึ้น รร.รุ่งอรุณ เริ่มจากครูผู้สอนลองคิดเองก่อนว่าอยากทำอะไร มีจุดประสงค์ มีกระบวนการอย่างไร แล้วนำมาปรึกษากันในกลุ่มครูก่อนส่งโจทย์หรือคำถามให้กับนักเรียน การเรียนจากที่บ้าน นักเรียนต้องพึ่งพาตัวเองให้มาก การออกแบบของครูต้องช่วยให้นักเรียน เรียนด้วยตัวเองได้จริงๆ ตามความเหมาะสมแต่ละช่วงวัย ดังนั้นการให้โจทย์และตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ครูต้องฝึกฝนกันอย่างมากและยังต้องฝึกฝนกันต่อไป” ผอ.สกุณี ระบุ
จากหลากหลายตัวอย่างข้างต้น รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถานบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในประเทศไทย ที่จะพลิกคุณภาพการศึกษาไปอย่างก้าวกระโดด หากโรงเรียนเน้นสร้างสมรรถนะของผู้เรียนมากกว่ายึดผลลัพธ์การเรียนรู้โดยใช้ตัวชี้วัดตามรายวิชาแบบเดิม ซึ่งครูต้องพัฒนาทักษะ (Upskill) และเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ไม่เฉพาะโรงเรียนหรือในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และเชื่อว่าในสถานการณ์ตอนนี้โรงเรียนอื่นๆ ก็กำลังทำอยู่เหมือนกันเพราะกำลังเผชิญความจำเป็นแบบเดียวกัน
“เราจะใช้ตัวชี้วัดมาวัดผลสัมฤทธิ์แต่ละหน่วยวิชาไม่ได้แล้ว การศึกษาต้องโดดไปที่การสร้างสมรรถนะของผู้เรียน เพราะสมรรถนะสร้างผู้เรียนให้ไปไกลกว่าตัวชี้วัดเดิมสร้างผู้เรียนที่เป็น Learner Person (สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้) ถ้านำฐานสมรรถนะมาเป็นตัวตั้ง การศึกษาจะทำให้เกิดพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ทำให้ไปถึงเป้าหมายการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งได้อย่างแน่นอน เชื่อว่าโรงเรียนทำได้ตามบริบทของตัวเอง เพราะทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน เชื่อว่าผู้บริหารจะเริ่มเปลี่ยนบทบาท เห็นตัวเองมากขึ้นว่าตัวเองมีความหมายและมีคุณค่ามากต่อการบริหารวิชาการท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตตอนนี้” รศ.ประภาภัทร กล่าวในท้ายที่สุด