ย้อนไปในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวม 17 จังหวัด
งบประมาณนี้ได้มาจากการแปรญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุเป็นค่าก่อสร้าง-ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมที่ประสบอุบัติภัย แต่กลับนำไปก่อสร้างสนามฟุตซอล โครงการมีวงเงินงบประมาณถึง 4.4พันล้านบาท
กลุ่มนักการเมืองกลุ่มหนึ่งได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสนามฟุตซอล มีการเจาะจงส่งงบประมาณไปในจังหวัดตามที่ต้องการ โดยติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้นำงบประมาณไปก่อสร้างตามโรงเรียนที่กำหนด โดยกำหนดให้ดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา การกำหนดราคากลาง รวมทั้งร่างบันทึกการกำหนดขอบเขตงาน (Term of Reference หรือ TOR) เพื่อให้บริษัทห้างร้านของกลุ่มการเมืองดังกล่าวเป็นผู้ได้รับงาน
เนื่องจากเป็นการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน สนามฟุตซอล ที่สร้างเสร็จ จึงไม่สามารถใช้การได้ ต้องปล่อยทิ้งร้าง จากพื้นที่เดิมที่เด็กนักเรียนเคยใช้ออกกำลังกาย ทำให้เด็กนักเรียนไม่มีที่ออกกำลังกาย เมื่อใช้การไม่ได้ ทำให้มีการร้องเรียนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่า เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 168 ที่มีเนื้อหาสำคัญ คือ ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้งบรายจ่าย เพราะการใช้งบประมาณสนามฟุตซอล มีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคาที่ตนรู้จักให้เป็นผู้มีสิทธิ์ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ทั้งการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบรายการและวิธีการก่อสร้าง
งบนี้นักการเมืองจะเรียกกันว่า “การแปรญัตติ”เริ่มจากการจัดสรรงบประมาณให้ สส. ด้วยเงินไม่กี่ล้านบาท เพื่อทำโครงการลงในเขตเลือกตั้ง เรียกกันว่า “งบหาเสียง” แต่สำหรับ สส. ที่มีอำนาจ สามารถอาจแปรญัตติเป็นงบก้อนโต เมื่อใช้หาเสียงแล้ว ยังสามารถนำไปใช้แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. สืบสวนสอบสวนและไต่สวนจากพยานหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีสส.และภรรยาสส.เครือญาติ ที่เป็นสส.เช่นกัน ได้สั่งการให้พวกของตนเข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 เพื่อจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ โดยเข้าไปครอบงำบงการการใช้จ่ายงบประมาณทั้งการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ราคาแพงเกินจริง
คดีนี้ ป.ป.ช.ใช้เวลาพิจารณานานถึง 8 ปี จนเมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 ป.ป.ช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์9:0 เสียง ชี้มูลความผิด และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณายื่นฟ้องบรรดาสส.ที่เกี่ยวข้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องสส.กับพวกรวม 84 คน
เรื่องนี้ มีครูถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจาก สพฐ.และ ป.ป.ช.มากกว่า 800 คน รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 18 จังหวัด จำนวน 385 โรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เข้าไปมีส่วนพัวพันกับคดีรวม 123 คน รวบรวมสำนวนทั้งสิ้น 16 สำนวน ตั้งข้อหาตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 123/1 และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาในหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2543
การที่ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับกรณีสนามฟุตซอล ทำให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ถูกไล่ออกรวม 7 คน และมีแนวโน้มจะมีคำสั่งไล่ออกกว่า 50 คน
กรณีนี้ น่าเห็นใจบรรดาครูที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทุจริต เพราะตามข้อเท็จจริง การก่อสร้างสนามฟุตซอล เกิดจากการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ. 2555 ของสพฐ. ให้แต่ละโรงเรียน โดยผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับงบประมาณต่างไม่มีความรู้โดยตรงในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้งเมื่อมีการเสนอจากผู้เข้าประมูลการก่อสร้าง เห็นว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนและชาวบ้าน เพราะจะได้มีสถานที่ออกกำลังกาย จึงมีความเห็นว่าควรรับมาดำเนินการ แต่ต่อมามีความชำรุดของพื้นยางปูสนามกลับถูกกล่าวโทษจาก ป.ป.ช.
อดีตผู้บริหารสถานศึกษาที่นครราชสีมาคนหนึ่ง เปิดเผยเอกสารที่บริษัทเอกชน จงใจปลอมแปลงเพื่อใช้หลอกลวงรัฐ ในโครงการสนามฟุตซอล ทำให้ครูหลงเชื่อและปฏิบัติตาม ครูบางท่านที่เป็นผู้ตรวจงานโดนบริษัทเอกชนหลอกให้ลงนามในเอกสารรับมอบงาน โดยมีการปกปิดข้อความเพื่อบิดเบือนข้อความ ทำให้ครูเข้าใจว่าแผ่นยางของสนามฟุตซอลสามารถใช้กลางแจ้งได้ แต่แท้จริงแล้วแผ่นยางดังกล่าวใช้ได้ในที่ร่มเท่านั้น จนที่สุดกลายเป็นผู้ต้องถูกลงโทษวินัยร้ายแรง
กรณีนักการเมืองต้องรอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสิน แต่กรณีครูเมื่อถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับต้องถูกตัดบำเหน็จบำนาญเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นฉบับแรกที่มีบทบัญญัติห้ามเด็ดขาดไม่ให้ สส.กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ตนมีส่วนใช้งบประมาณรายจ่าย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ยิ่งเข้มงวดหนัก ไม่ห้ามแค่ สส. แม้แต่ ครม.ที่รู้เห็นต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ
เมื่อมีผู้กระทำผิดต้องรับโทษ เราจะแยกผู้ถูกกล่าวหาที่จะเป็นผู้บริสุทธิ์ออกจากผู้กระทำผิดจริงได้อย่างไร?