คาดได้ ผอ.รร.ไม่ครบตำแหน่งว่าง หลักเกณฑ์ใหม่เฟ้นคนทำงาน
นายณรงค์ แผ้วพลสง ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยถึงการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา สพฐ. ปี 2559 ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวม 2,890 อัตรา แยกเป็นสังกัดประถมศึกษา 2,876 อัตรา มัธยมศึกษา 6 อัตรา และการศึกษาพิเศษ 8 อัตรา
ซึ่งรับสมัครระหว่างวันที่ 19-24 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 9,508 คน โดยเป็นประถมศึกษา 9,320 คน มัธยมศึกษา 96 คน การศึกษาพิเศษ 92 คน ทั้งนี้ จังหวัดบึงกาฬ ไม่ได้ดำเนินการคัดเลือก อย่างไรก็ตาม ในการรับสมัครคัดเลือก ผอ.สถานศึกษา ครั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีบางจังหวัดมีผู้สมัครไม่ครบตามจำนวนอัตราที่ว่าง
นายอานนท์ สุขภาคกิจ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา (สพม.) 1 กรุงเทพฯ ฐานะผู้แทน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กล่าวว่า เท่าที่ดูเชื่อว่าวันที่ 22 ธ.ค.2559 นี้ ซึ่ง สพฐ.จะมีการบรรจุแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา จะไม่ได้ผู้บริหารครบตามตำแหน่งที่ว่าง เพราะดูจากการรับสมัครครั้งนี้ มีบางจังหวัดที่ผู้สมัครน้อยกว่าอัตราที่ว่าง และบางจังหวัดก็สมัครมากกว่าอัตราว่างไม่มากนัก ซึ่งผู้ที่สมัครคัดเลือกก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคุณสมบัติครบทุกคน หรือจะสอบผ่านได้ทั้งหมด เพราะการสอบครั้งนี้เป็นการสอบเฉพาะกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้หลักเกณฑ์ใหม่ อีกทั้ง ไม่มีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือก ดังนั้นการสอบครั้งนี้ จึงเป็นการสอบคัดเลือกผู้บริหารที่มีความมุ่งมั่น ที่ต้องการเข้าไปเป็นผู้บริหารสถานศึกษาจริงๆ
“การที่มีผู้มาสมัครรับการคัดเลือกครั้งนี้น้อย อาจเป็นเพราะมีกติกาบางอย่างที่เป็นข้อจำกัด และจำกัดสิทธิบางประการ เช่น เมื่อได้รับบรรจุแล้วหากต้องการย้าย ต้องอยู่ที่โรงเรียนเดิมไม่ต่ำกว่า 24 เดือน หรือ 2 ปี นับถึงวันที่ 30 ก.ย.ของปี ที่เขียนคำร้องขอย้าย และต้องผ่านการประเมินแบบเข้ม 1 ปี หรือ 6 เดือนครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการประเมินเพื่อปรับปรุง และประเมินครั้งที่ 2 ถ้าผ่านก็เป็นผู้บริหารต่อไป แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องกลับไปเป็นตำแหน่งเดิม หรือที่ไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งหากต้องกลับไปจริง ๆ ตำแหน่งนั้นอาจจะไม่ว่างแล้วก็ได้ เพราะเมื่อเราออกจากตำแหน่งนั้นมา ก็จะต้องมีคนขึ้นมาแทน ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจทำให้คนที่จะมาสมัครคัดเลือก ผอ.สถานศึกษา ต้องคิดหนัก การคัดเลือกครั้งนี้จึงมีผู้มาสมัครแข่งขันไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา”
นายอานนท์ กล่าวและว่า ตนคิดว่าประเด็นเหล่านี้ ก.ค.ศ.ซึ่งเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์คงต้องรับฟัง เพราะใช้ประกอบการออกหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะนำมาใช้ในการคัดเลือกครั้งต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ