อุปสรรคในการเรียนรู้ของเด็กๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างหนึ่งคือการพูดอ่านเขียนภาษาไทยไม่คล่อง ด้วยเหตุว่าเด็กๆ ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวัน และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง
แต่สำหรับโรงเรียนบ้านนาประดู่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี แม้ว่าเด็กๆ ทั้งหมดจะนับถือศาสนาอิสลาม ชุมชนโดยรอบใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร และยังเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามวิถีอิสลาม โดยเรียนศาสนา 8 สาระวิชาควบคู่ไปกับสายสามัญ 8 สาระวิชา แต่การเรียนการสอนภาษาไทยกลับไม่มีปัญหา แถมเด็กนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ยังสามารถกวาดรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดการแต่งกลอนในระดับเขตพื้นที่ประถมศึกษา ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในพื้นที่กว่า 25 ปีของ “ครูกาญจนา จองเดิม” ที่ได้คิดค้นและนำ “คำคล้องจอง” มาใช้แก้ปัญหาการอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ สามารถทำให้เด็กๆ จดจำคำศัพท์ต่างๆ เรียนรู้และเข้าใจภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อพบว่าคำคล้องจอง สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยได้ โครงการ “พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโดยใช้ร้อยกรอง” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส” โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นเพื่อขยายผลพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กนักเรียนในทุกระดับชั้นมีทักษะในการพูดอ่านเขียนและใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว
“25 ปีที่สอนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ครูพบว่าเด็กๆ มีปัญหาการเรียนรู้ภาษาไทย เพราะว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ประกอบกับภาษามลายู นั้นมีโครงสร้างของภาษาที่แตกต่างกันจึงทำให้เด็กเกิดความสับสนในการที่จะเรียบเรียงเป็นคำพูด ทำให้ไม่กล้าที่จะพูดหรือสื่อสาร ตั้งแต่เรียนอนุบาลและส่งผลต่อเนื่องในเรื่องของการเขียน เมื่อเรียนชั้นประถม”
ครูกาญจนา แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ด้วยการสร้างสื่อการเรียนการสอน โดยนำเรื่องราวใกล้ตัวของเด็กๆ จากครอบครัว ชุมชน และขยายวงกว้างออกไปในระดับจังหวัด มาทำเป็น “หนังสือเล่มจิ๋ว” เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการเขียน การอ่าน ที่เมื่อมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนชำนาญแล้ว ต่อมาเด็ก ๆ ก็จะสามารถแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองต่างๆ ได้ เนื้อหาส่วนใหญ่มาจากเรื่องใกล้ตัวเด็ก มีการนำชื่อของเด็กๆ ในชั้นมาเป็นตัวละครดำเนินเรื่อง ทำให้การเรียนภาษาไทยสนุกและเกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย
สำหรับชุดนวัตกรรมที่ ครูกาญจนา พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย “แบบฝึกและหนังสืออ่านประกอบ จำนวน 40 เล่ม” เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนกลอนสำหรับเด็กชั้นอนุบาล-ป.6 จำแนกเป็นชั้นอนุบาล 1-ป.2 เป็นแบบฝึกที่พัฒนาการอ่านร้อยกรอง โดยชั้นอนุบาล1เน้นสระเสียงยาว, อนุบาล 2 เน้นสระเสียงสั้น, ป.1 เป็นคำคล้องจองที่ตรงกับมาตราตัวสะกด และ ป.2 เป็นคำคล้องจองที่ไม่ตรงกับตัวสะกด ส่วนชั้น ป.3-ป.6 จะเป็นหนังสืออ่านประกอบ โดย ป.3 เรียนกลอนสี่, ป.4 เรียนกลอน 6, ป.5 เรียนกลอน 8 และ ป.6 เรียนกาพย์ญานี 11
ซึ่งทั้งแบบฝึกและหนังสืออ่านประกอบทั้งหมด พัฒนาและสร้างขึ้นโดยอ้างอิงกับหลักสูตรแกนกลางและมาตรฐานตัวชี้วัดต่างๆ ที่นำมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน
ผลลัพธ์จากการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และหนังสือส่งเสริมการอ่าน ที่สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ภาษาไทยจากเรื่องใกล้ตัว ถูกต่อยอดขยายผลเป็นนิทานเรื่อง“ลากับหมาป่า” ที่เด็กๆ ต่างก็ออกมาแสดงบทบาท เป็นตัวละครสมมุติ พร้อมกับท่องบทร้อยกรอง ที่มีคำคล้องจอง มีเนื้อที่สนุกได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ และยังเป็นผลงานเชิงประจักษ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับเขตพื้นที่ประถมศึกษา การแข่งขันยุวบรรณารักษ์ในปีการศึกษาที่ผ่านมา
ครูกาญจนา กล่าวด้วยว่า เนื่องจากโรงเรียนบ้านนาประดู่ จัดการเรียนการสอนแบบ 2 ระบบ เรียนอิสลาม 8 สาระ และวิชาสามัญ 8 สาระ เด็กๆ ก็จะมีความสับสน อย่างวิชาสามัญการอ่านหนังสือ จะอ่านจากหน้าไปหลัง ส่วนวิชาศาสนาจะอ่านจากด้านหลังมาด้านหน้า แต่เมื่อเราได้ใช้นวัตกรรมตัวนี้ ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจวิชาสามัญมากขึ้น แล้วเขาก็กลับมาเปิดมาอ่านหนังสือ ก็จะช่วยให้เกิดทักษะในการอ่านและการเรียนรู้ภาษาไทยมากขึ้น
“เป้าหมายของครู ก็คืออยากเห็นเด็กๆ อ่าน เขียนและแต่งร้อยกรองได้ ซึ่งที่ผ่านมา สอนร้อยแก้วทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่การที่สอน ให้แต่งร้อยกรองได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า และเชื่อว่าอีก 6-8 ปีข้างหน้า การพัฒนาและทักษะภาษาไทยของเด็กบ้านนาประดู่ จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราอาจมีกวี หรือนักกลอนเกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรมนี้”ครูกาญจนา กล่าวทิ้งท้าย
การเปลี่ยนการเรียนรู้ภาษาไทยจากการท่องจำแบบเดิมๆ มาเป็นการเรียนรู้ผ่านคำคล้องจอง ที่เกิดความเข้าใจในความหมายของคำแต่ละคำไปพร้อมๆ กันนั้น ทำให้การเรียนภาษาไทยของเด็กๆ บ้านนาประดู่ เป็นเรื่องน่าสนุก และเกิดความสุขในการเรียนรู้ สิ่งนื้ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมื่ออ่านออก เขียนได้ และเข้าใจภาษาไทย ก็จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในสาระวิชาอื่น ๆ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นในอนาคต
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ