ด้วยสมองและสองมือ / “ตัด-ดึง-ยืด” ขวดพลาสติก เป็นเส้นด้ายสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ
ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ไอเดียเจ๋งเปลี่ยนโลก ประดิษฐ์’เครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย’แปลงขยะขวดพลาสติกเป็นเส้นด้าย สู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ
ผลงานของเอกวิทย์ สายทับทิม, สิรธีร์ พวงแย้ม และพัฒนากร รุ่งเรืองไกรศิริ ที่มีจุดเริ่มต้นโดยมองเห็นปัญหาขยะจากขวดน้ำดื่ม ที่เป็นขวดพลาสติกใสหรือขวดเพ็ท (PET) ที่ปัจจุบันมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นขยะที่ใช้เวลานานกว่า 450 ปีต่อ 1 ใบ กว่าจะย่อยสลาย หากนำไปหลอมละลายต้องใช้พลังงานและเกิดการสิ้นเปลือง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จึงต้องการเปลี่ยนขยะพลาสติกเหล่านั้นให้กลายเป็นเส้นด้าย ถักทอขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่อไปโดยไม่ต้องนำไปหลอมละลาย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจกต์ คือ ดร.บิณฑสันต์ ขวัญข้าว และว่าที่ร้อยตรีหญิงศิริวรรณ ศรีธรรมรงค์
เครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย มี 2 กระบวนการหลัก คือ ส่วนที่ตัดขวดด้วยใบมีด จะได้เส้นด้ายที่แบนและมีความหนา จากนั้นเข้าสู่การเก็บเส้นด้าน อีกส่วนจะเป็นการดึงยืดเส้นด้ายด้วยความร้อนเพื่อลบเหลี่ยม ทำให้มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับเส้นเอ็น ซึ่งใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนผ่านแผ่นความร้อน กระบวนการสุดท้ายนี้จะได้เส้นด้ายที่มีขนาดเล็ก ยาวและกลม ซึ่งเหมาะสมต่อการทำไปถักทอขึ้นรูปต่อไปเพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกโฮมเท็กซ์ไทล์ เช่น ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ผ้ารองจาน ผ้าม่านเพื่อการตกแต่ง เป็นต้น
การใช้งานเครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย เริ่มต้นจากนำขวดพลาสติกใสที่มีความเรียบและไม่มีเหลี่ยมหรือลวดลายมาตัดก้นขวดออกประมาณ 1-1.5 นิ้ว จากนั้นเริ่มตัดขอบขวดให้ได้ระยะ 2 มิลลิเมตร นำไปใส่ในเครื่องให้ปลายเส้นที่ตัดร้อยผ่านเครื่อง แล้วนำปลายเส้นที่ผ่านเครื่องร้อยเข้ากับแกนม้วนและหมุนแกนม้วนเพื่อดึงเส้นแบนออกมา นำปลายเส้นแบนเข้าสู่กระบวนการดึงยืดเป็นเส้นด้าย แล้วม้วนเส้นด้ายเก็บในหลอดด้ายเพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุสิ่งทอต่อไป
“จากการทดลองถักทอด้วยเครื่องทอผ้าตัวอย่าง โดยใช้เส้นด้ายจากขวดพลาสติกเป็นเส้นด้ายพุ่ง และใช้เส้นด้ายอะครีลิคเป็นเส้นด้านยืน พบว่าสามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอได้ และคุณสมบัติของเส้นด้ายดังกล่าวนี้มีความแข็งแรง ค่อนข้างทนทานต่อการใช้งานได้เป็นอย่างดีเหมาะกับผลิตภัณฑ์โฮมเท็กซ์ไทล์”ตัวแทนทีมนักศึกษา อธิบาย
ด้าน ดร.บิณฑสันต์ สรุปถึงเส้นด้ายจากขวดพลาสติกที่ได้จากเครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย ว่าเป็นการสร้างคุณค่าให้กับของเหลือใช้ หรือขยะจากขวดน้ำดื่มในชีวิตประจำวัน โดยนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดปริมาณขยะด้วยการอาศัยความรู้เชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่อไป และจากสเกลเครื่องต้นแบบนี้ สามารถขยายสู่ภาคอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
สำหรับผลิตภัณฑ์ตัวอย่างของเส้นด้ายจากขวดพลาสติกขึ้นรูปเป็นชิ้นงานและใช้งานได้จริง เส้นด้ายมีความแข็งแรงและมีความใกล้เคียงกับเส้นเอ็น นับว่าเป็นแนวทางที่ดีในการที่จะช่วยลดปริมาณขวดน้ำพลาสติกลงได้ ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ