เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดสัมมนานำเสนอผลการศึกษาโครงการ “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา” โดย ดร.สมชัย จิตสุชน และคณะ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจคือ
แนวคิดการพัฒนาตามศาสตร์พระราชาได้มีการพูดถึงตลอดเวลาในประเทศไทย รวมทั้งแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy philosophy) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสตร์พระราชาก็ได้รับการเผยแพร่ในหลายประเทศทั่วโลก
แต่คงต้องยอมรับว่าเรายังอาจได้ยินบางเสียง โดยเฉพาะต่างประเทศ ที่แสดงถึงข้อกังขา เช่น “…คุณบอกว่าดี เป็นเพราะว่าคุณศรัทธาพระมหากษัตริย์ของคุณใช่หรือไม่ คุณสามารถพิสูจน์ได้มั้ยว่าดีจริง คุณมีงานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบที่แสดงไหมว่าศาสตร์พระราชาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นจริง ไม่ใช่เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว…”
จึงเป็นความท้าทายของนักวิจัยไทยที่จะพิสูจน์คุณูปการของศาสตร์พระราชาต่อวงการวิชาการระดับนานาชาติ
มูลนิธิมั่นพัฒนาจึงให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์พระราชาและการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นแนวทางการพัฒนาของโลกปัจจุบัน โดย TDRI ได้เริ่มกระบวนการศึกษาด้วยการสร้างตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา หรือ Sustainability Community Indicators (SCI) ซึ่งได้ชี้วัดแสดงผลลัพธ์การพัฒนาที่สำคัญ อาทิ สุขภาพ การศึกษา ความสุข ความเท่าเทียมในสังคม เป็นต้น (เรียกว่าเป็นการเทียบชั้นกับการนำเสนอดัชนี GNH ที่นำความยั่งยืนสู่โลก)
วิธีสร้างตัวชี้วัด เริ่มจากศึกษา ‘ความหมาย’ ของมิติย่อย 15 มิติของศาสตร์พระราชาที่เลือกมา เช่น ความหมายของคำว่า ‘ความพอประมาณ’ ‘การมีภูมิคุ้มกัน’ ‘การระเบิดจากภายใน’ เป็นต้น
จากนั้นจึงนำความหมายมาแปลงเป็นพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติของคนทั่วไป เช่น ความพอประมาณหมายถึง ระมัดระวังในเรื่องใช้จ่าย ไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็นต้องใช้เพียงเพราะคนอื่นเขามีกัน จนกลายเป็นหนี้เป็นสิน
ถัดมาจึงเป็นการสร้างคำถามในแบบสอบถามว่าด้วย พฤติกรรม/ความคิด/ทัศนคติ ด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ที่สำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงใช้คำที่เชื่อมโยงไปถึงศาสตร์พระราชา (เช่น เศรษฐกิจพอเพียง) ที่อาจทำให้ชาวบ้านมีธงคำตอบอยู่ในใจจนไม่สามารถได้คำตอบที่แท้จริงได้
แบบสอบถามนี้ได้ใช้สำรวจครัวเรือนเกือบ 70,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงกลางปี 2561 ขนาดตัวอย่างที่ค่อนข้างมากนี้ทำให้สามารถนำเสนอตัวชี้วัดได้ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค จนถึงระดับจังหวัดโดยยังรักษาความแม่นยำทางสถิติได้
ในภาพรวมของการศึกษาพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีคะแนนในการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชามากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากภาคกลางที่มีคะแนนน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแต่ละมิติย่อยในแต่ละด้านของการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา พบว่ามิติในเรื่องของความรอบคอบระมัดระวังมีคะแนนสูงที่สุด มิติด้านความเพียรเป็นอันดับที่สองตามมา อย่างไรก็ตาม ในบางมิติการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชายังคงได้คะแนนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับมิติการพัฒนาอื่น เช่น ด้านการแบ่งปัน ความซื่อสัตย์ เป็นต้น ในส่วนนี้สามารถนำมาใช้กำหนดนโยบายส่งเสริมศาสตร์พระราชาในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ในเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาและผลลัพธ์การพัฒนา จากการศึกษาด้วยวิธีทางสถิติพบว่า การปฏิบัติตาม “ศาสตร์พระราชา” นำไปสู่ผลการพัฒนาที่ดีขึ้นในเกือบทุกมิติ เช่น ความสุขความพอใจ รายได้ การหลุดพันความยากจน โอกาสทางการศึกษา ทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งผลดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่งในการยืนยันว่าศาสตร์พระราชานำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงความเชื่อที่ไม่มีหลักฐาน
การจัดทำตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนาจึงเปรียบเสมือนการสร้างรูปธรรมแก่องค์ความรู้ที่มีค่าของสังคมไทยให้เป็นที่สิ่งจับต้องและเห็นภาพได้ชัดเจน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตัวชี้วัดไม่เพียงแต่เป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาภายในประเทศเท่านั้น
หากแต่สามารถนำไปเผยแพร่ในเวทีนานาชาติ และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาตามบริบทของพื้นที่อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคมโลกต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ