งานวิจัยสำรวจสุขภาพคนทำงานบริเวณหัวจ่ายปั้มน้ำมัน 100 คน พบเสี่ยงสัมผัสสาร BTEX มีปัญหาสุขภาพอาการระบบประสาท 73% ระบบทางเดินหายใจ 57.5% อาการระบบปัสสาวะ 52.5% แนะเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง นายจ้างควรจัดหาอุปกรณ์ PPE ควรให้พนักงานควรมีวันหยุดงาน พักผ่อนที่เหมาะสม มีการดูแลสุขอนามัยให้ดี เพื่อลดการรับสัมผัสสาร BTEX
ข้อมูลจากรายงานวิจัย ‘การทำนายสภาวะทางสุขภาพของแรงงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดกรองสุขภาพ’ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อนามัย เทศกะทึก และคณะ ได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยบูรพา เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2564 ได้ศึกษาผลต่อสุขภาพของแรงงานจากการรับสัมผัสสารประกอบ BTEX ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และนำผลงานวิจัยไปการหาแนวทางในการคัดกรองสุขภาพของแรงงาน
ทั้งนี้แรงงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการทำงานภาคการบริการและเศรษฐกิจด้านพลังงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) ของประเทศไทย แต่แรงงานกลุ่มนี้ยังขาดความเท่าเทียมในการดูแลสุขภาพ ดังนั้นเป็นที่น่าห่วงกังวลถึงสภาวะสุขภาพของแรงงานกลุ่มนี้ จึงควรหาแนวทางการป้องกันสุขภาพเนิ่น ๆ เพื่อดูแลสุขภาพของแรงงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้วิจัยเล็งเห็นช่องว่างของการศึกษา จึงมุ่งศึกษาปัจจัยทำนายผลทางสุขภาพของแรงงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยใช้รูปแบบการศึกษา เชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง มีการวิพากษ์ผลงานวิจัย เพื่อเป็นแนวทางในการคัดกรองสุขภาพของแรงงานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ให้เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ต่อไป
เสี่ยงสัมผัสสาร BTEX สารประกอบที่เป็นพิษต่อมนุษย์มากที่สุด
งานวิจัยชินนี้ระบุว่าทั่วโลกมีโอกาสได้รับความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจากลักษณะการปฏิบัติงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน งานบางประเภทมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์มากกว่าอาชีพอื่น ๆ ผู้ประกอบอาชีพทั่วโลกต้องเผชิญกับอันตรายจากสถานที่ทำงานหลายรูปแบบ จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าแต่ละปีมีมีผู้ประกอบอาชีพประมาณ 2.7 พันล้านคนเสียชีวิตลง โดยจำนวนผู้ประกอบอาชีพอย่างน้อย 2 ล้านคนจากสุขภาพที่ไม่ดี และประมาณ 160 ล้านคนที่ได้รับการบาดเจ็บจากการทำงาน เขาเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคจากการทำงาน
น้ำมันเชื้อเพลิงมีส่วนผสมของของเหลว (Liquid) ที่ได้จากปิโตรเลียมที่ระเหยง่ายและไวไฟ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการเผาไหม้ภายในของเครื่องจักร ประกอบด้วยไฮโดรคาร์บอน (อะโรมาติกอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว) และไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอน (N, S, O2, วาเนเดียมและนิกเกิล) ในบรรดาส่วนประกอบต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมส่วนประกอบของน้ำมันเชื้อเพลิง เรียกว่ากลุ่ม BTEX ซึ่งสารประกอบ BTEX ประกอบด้วยสาร 4 ชนิด คือ สารเบนซีน (Benzene) สารโทลูอีน (Toluene) สารเอทิลเบนซีน (Ethylbenzene) และสารไซลีน (Xylene) ตามลำดับ ถูกกำหนดให้เป็นสารประกอบที่เป็นพิษต่อมนุษย์มากที่สุด
ทั้งนี้แรงงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกลุ่มอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ยังขาดโอกาสในการดูแลสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงที่เพียงพอ ทั้งนี้จำนวนแรงงานที่ยังไม่มีสถิติรายงานอย่างแน่ชัด คาดการณ์เมื่อปี 2558 ว่าอาจมีกว่าสองแสนคน ระบุว่าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละแห่งมีแรงงานประมาณ 7 คนต่อสถานี แม้แรงงานกลุ่มนี้จะไม่ใช้ทักษะในการปฏิบัติงานมากนัก แต่ในอีกแง่หนึ่งอาชีพนี้มีโอกาสรับสัมผัสสิ่งคุกคามที่เสี่ยงต่อสุขภาพได้ การปฏิบัติในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีหลายลักษณะ เช่น สำนักงาน การบริการน้ำมันเชื้อเพลิง แคชเชียร์ และคลังโหลดน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะงานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงสูตรต่าง ๆ เช่น น้ำมันเบนซิน (Gasoline) ดีเซล (Diesel) อี 20 (E 20) ขณะแรงงานปฏิบัติงาน จะมีโอกาสรับสัมผัสเคมีหลากหลาย สารประกอบบีเทค (BTEX) เป็นส่วนประกอบหลักในน้ำมันประเภทต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถปล่อยออกสู่อากาศการทำงานได้ ขณะพนักงานปฏิบัติงาน อาจรับสัมผัสสารประกอบ BTEX เข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ ทางผิวหนัง และทางปากโดยการกลืนกิน โดยเฉพาะทางการหายใจยังคงเป็นเส้นทางหลักของการรับสัมผัสสารไอระเหยจากการทำงาน เคยมีการประเมินการรับสัมผัสสารประกอบ BTEX ในพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ท่าจอดรถบัสที่เติมเชื้อเพลิงดีเซลในประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า ภายใน 8 ชั่วโมงการทำงาน พนักงานมีการรับสัมผัสสารไซลีนมากที่สุด รองลงมาคือ สารเบนซีน และสารโทลูอีน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 850.97, 313.16 และ 188.43 ppb การรับสัมผัสสารกลุ่ม BTEX อาจทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพระบบต่าง ๆ ตามมาได้
ผลกระทบของสารประกอบ BTEX ต่อสุขภาพแรงงาน เกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงสูงมาก เป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลมากเนื่องจากร้อยละ 50 ของ BTEX ที่มนุษย์หายใจเข้าไปตลอดอายุขัยจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้จริง เคยมีนักวิจัยไทยระบุว่าพนักงานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปฏิบัติตัวที่ปลอดภัยขณะทำงานเพียงร้อยละ 14.6 เท่านั้น การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากสารกลุ่มนี้ ได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ในหลายระบบ โดยผลกระทบหลัก ได้แก่ ระบบประสาท ทำให้มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ทำให้เกิดผลกระทบด้านความรู้ ความเข้าใจและพฤติกรรมได้ ผิวหนัง เช่น อาการระคายเคืองตา และผื่นแพ้ผิวหนัง (Ayyadhi & Akhtar, 2018) ระบบทางเดินหายใจ เช่น ระคายเคืองทางเดินหายใจ ไอ
ผลกระทบของการรับสัมผัสสารกลุ่ม BTEX ในระดับรองลงมา ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาล่าสุดระบุว่าสามารถใช้ Troponin-I เป็นดัชนีชี้วัดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในผู้รับสัมผัสสารประกอบ BTEX (Ogbuowelu et al., 2020) ตับ เช่น ตัว ตาเหลือง และ ไต เช่น ปัสสาวะลำบากและออกน้อย ผลต่อสารพันธุกรรม และผลกระทบต่อการทำให้ทารกในครรภ์ เนื่องจากศักยภาพทำให้เกิดความผิดปกติของโครโมโซมและ/ หรือความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยพบความเป็นพิษต่อพันธุกรรมพบในผู้ปฏิบัติงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับที่สูงกว่าในกลุ่มควบคุมและอาจก่อให้เกิดมะเร็งต่อผู้ประกอบอาชีพได้
ผลกระทบของสารประกอบ BTEX ทำให้มีผลต่อตัวบ่งชี้ทางชีวเคมีผิดปกติได้ เช่น การทำงานของเม็ดเลือด ไต ตับ ผิดปกติ ผู้ที่รับสัมผัสสารประกอบ BTEX เช่น สารเบนซีนมีผลต่อระดับเอนไซม์ที่ตับผิดปกติ โดยพบว่า มีความสัมพันธ์กับอาการผิดปกติทางร่างกายได้ด้วย และยังรบกวนการทำงานของอินซูลิน จนกลายเป็นโรคเบาหวานได้ ดังเช่นการศึกษาในหนูในปีที่ผ่านมา พบว่า หนูที่สูดดมสารเบนซีนมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น (p = .05) ชี้ให้เห็นถึงการรับสัมผัสกับสารเบนซีนทำให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินอาจเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นพิษของเบนซีนที่สูดดมเข้าไป และเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจในมนุษย์ก็ได้
แนะนายจ้างควรจัดหาอุปกรณ์ PPE และให้พนักงานมีวันหยุดงาน พักผ่อนที่เหมาะสม
งานวิจัยชิ้นนี้แนะนำให้นายจ้างจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน (PPE) ให้แก่พนักงาน ทั้งนี้พับว่าพนักงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ใช้หน้ากาก N95 โดยส่วนใหญ่ 98% แต่ใช้หน้ากากผ้า | ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org
งานวิจัยชิ้นนี้ได้เก็บข้อมูลจากพนักงานกลุ่มศึกษาที่ปฏิบัติงานในบริเวณหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 200 คน ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตภาคตะวันออก ที่ปฏิบัติงานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงใน จ.ระยอง โดยแบ่งเป็นกลุ่มแรงงานปฏิบัติงานบริเวณหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่รับสัมผัสสาร BTEX มาอย่างน้อย 3 เดือน จำนวน 100 คน และและกลุ่มควบคุม คือ กลุ่มแรงงานที่ปฏิบัติงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ได้มีหน้าที่ในการบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรง หรือ บริเวณนอกหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 100 คน โดยกลุ่มแรงงานปฏิบัติงานบริเวณหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 100 คนนั้นมีเพศชายและหญิงใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่เป็นหญิงมากกว่าชาย โดยมีเพศหญิง ร้อยละ 56 อายุเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 27.78 (5.95) ปี ช่วงอายุส่วนใหญ่ของผู้ประกอบอาชีพอยู่ในช่วงวัยแรงงาน คือ อายุ 20.29 ปี ร้อยละ 45 ส่วนใหญ่ศึกษาในระดับมัธยมต้น
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า จากการศึกษาสภาวะสุขภาพทางกายในช่วงรอบปีที่ผ่านมาในกลุ่มปฏิบัติงานบริเวณหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและกลุ่มปฏิบัติงานนอกบริเวณหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่าแข็งแรงดีร้อยละ 66.0 และ 61.0 รวมทั้งสภาวะสุขภาพทางจิตใจในช่วงรอบปีที่ผ่านมาแข็งแรงดีร้อยละ 85.0 และ 74.0 ดังนั้นควรสร้างเสริมสุขภาพพนักงานให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้ดีขึ้น ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 มีการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ควรกระตุ้นให้พนักงานสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองภัยส่วนบุคคล (Personal protective equipment, PPE) เนื่องจากพบว่าพนักงานที่ปฏิบัติงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ใช้หน้ากาก N95 ร้อยละ 98 แต่ใช้หน้ากากผ้า ร้อยละ 66.0 สวมถุงมือ ร้อยละ 88 เสื้อแขนยาว ร้อยละ 62.0 อย่างไรก็ตามสาเหตุที่พนักงานไม่สวมใส่ PPE ได้ให้เหตุผลว่า รู้สึกอึดอัด รำคาญ ร้อยละ 55.0 ตามลำดับ
ประวัติในการทำงาน พบว่าระยะเวลาในการทำงานของแรงงานบริเวณหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนใหญ่ทำงานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ คือ 1 ปีขึ้น ร้อยละ 60 เฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) 1.61 (2.84) ปี ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 50 ส่วนใหญ่ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 66 ตามลำดับ
ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 68.5 อายุเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 27.78 (5.95) ปี ดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ ร้อยละ 32 สูบบุหรี่ร้อยละ 21 และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 17 สภาวะสุขภาพทางกายและทางจิตใจแข็งแรงดี ร้อยละ 85.0 และ 74.0 ส่วนใหญ่มีระยะเวลาในการทำงาน 1-2 ปีร้อยละ 28 ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 36 ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 55 อาการผิดปกติระบบต่าง ๆ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คือ อาการระบบประสาท (เช่น อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ) ร้อยละ 73 ระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 57.5 และอาการระบบปัสสาวะ ร้อยละ 52.5
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ คือ ควรตระหนักและให้ความสนใจในการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบกับระดับสาร BTEX ในร่างกาย ประกอบด้วย ดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ ระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษา การไม่สวมหน้ากาก การไม่ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เวลานอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ส่วนปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อตัวบ่งชี้ทางชีวเคมี ประกอบด้วย เพศหญิง เติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถตู้ ≥ 11 คันต่อวัน การไม่สวมหน้ากาก ทำงานมากกว่า ชั่วโมงต่อวัน และการปฏิบัติงานบริเวณหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
ควรลดความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่ออาการผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย ประกอบด้วย การทำงานล่วงเวลา ≥ 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การไม่สวมรองเท้าหุ้มส้น เวลานอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การทำงานล่วงเวลา≥ 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาระบบประสาท และความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ อาจเป็นผลมาจากการรับสัมผัส BTEX ดังนั้นควรหาแนวทางในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง ควรให้คำแนะนำนายจ้าง ให้จัดหาอุปกรณ์คุ้มครองภัยส่วนบุคคล(Personal protective equipment, PPE) ให้แก่พนักงาน ควรหมั่นตรวจสอบดูแลให้พนักงานสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองภัยส่วนบุคคลอีกทั้งกระตุ้นให้พนักงานดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด พนักงานควรมีวันหยุดงาน พักผ่อนที่เหมาะสม มีการดูแลสุขอนามัยให้ดี เพื่อลดการรับสัมผัสสาร BTEX ได้ อีกทั้งมีการคัดกรองสุขภาพตามความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควรเพิ่มการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยง และแนวทางในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมให้กับพนักงาน