คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
อีกหนึ่งในงานวิจัยคุณภาพของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กับรางวัลล่าสุด รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 62
ด้วยผลงาน “การใช้ไมโครไนซ์ซิงค์ออกไซด์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของสารดับเพลิงจากโปรตีนสกัดจากกากเนื้อในเมล็ดยางพาราเพื่อใช้ในการดับเพลิงประเภท Class B”
ผศ.ดร.ณัฐบดี วิริยาวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงผลงานดังกล่าวว่า เกิดจากที่มาโดย รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดี ได้มอบนโยบายและสนับสนุนให้คณาจารย์สร้างผลงานวิจัยควบคู่ไปกับการสอน จึงเป็นการผลักดันให้คณาจารย์พัฒนาตนเอง และกระตุ้นให้หาองค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างหลักสูตรที่ทันสมัย และใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยมาช่วยในการสอน
ปัจจุบันมีผลงานวิจัยที่สร้างชื่อเสียงหลายชิ้นงาน หนึ่งในนั้นคือ ผลงานชิ้นนี้ที่ได้รับรางวัล “การใช้ไมโครไนซ์ซิงค์ออกไซด์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของสารดับเพลิงจากโปรตีนสกัดจากกากเนื้อในเมล็ดยางพาราเพื่อใช้ในการดับเพลิงประเภท Class B”
ทั้งนี้ สารดับเพลิงประเภทโฟมโปรตีนสกัดจากกากเนื้อในเมล็ดยางพารา โดยจะใช้เทคนิคการสกัดโปรตีนออกมา เพื่อผลิตเป็นโฟมดับเพลิง ใช้ดับเพลิงประเภทน้ำมันและก๊าซ (คลาสบี) โดยอาศัยสมบัติของโฟมโปรตีนในการลดอุณหภูมิและไอระเหยของน้ำมันที่ลุกติดไฟ รวมถึงฟองโฟมมีความละเอียดสามารถกั้นไม่ให้ออกซิเจนโดยรอบสามารถสันดาปกับไอระเหยของน้ำมันให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นได้
ขณะที่โฟมโปรตีนนี้มีค่าแรงตึงผิวต่ำทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปยังบริเวณต่างๆ ของผิวน้ำมันและลดอุณหภูมิที่ผิวน้ำมันได้อย่างทั่วถึง สามารถใช้แทนโฟมโปรตีนสังเคราะห์ซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงทำให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำ
เนื่องจากเมล็ดยางพาราที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายมาก เพราะปกติจะถูกทิ้งตามสวนยางพาราต่าง ๆ และมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบอื่นที่นำมาสกัดโปรตีน อีกทั้งประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งปลูกยางพาราเกือบทุกภาค จึงมีปริมาณที่เพียงพอที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารดับเพลิงในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งโปรตีนที่นำมาผลิตโฟมดับเพลิงทำมาจากพืช จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น จึงสามารถคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 ประเภทผลงานวิจัยระดับดี สาขา วิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช โดยจะเข้ารับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ และเงินรางวัล 100,000 บาท ในวันนักประดิษฐ์ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 ก.พ.นี้ ณ ไบเทค บางนา
ผศ.ดร.ณัฐบดี กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้ ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติของนักวิจัย เพราะมีขั้นตอนการคัดเลือกค่อนข้างละเอียด ซึ่งสภาวิจัยแห่งชาติได้กำหนดคุณสมบัติ กฎเกณฑ์ และระเบียบการส่งผลงานเข้าประกวดไว้มาตรฐานสูง และมีคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกอย่างเข้มข้น
“ผลงานนี้ มีหัวใจหลักจากการทำงานวิจัยพื้นฐาน ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ และเป็นนวัตกรรมที่สามารถ ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และสามารถใช้ได้จริง”
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ คาดว่าต้นปี 63 จะสามารถวางจัดจำหน่ายได้ในท้องตลาดแน่นอน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ