จัดละครเวทีเพื่อเด็กพิการสายตาใน จ.ขอนแก่น กระตุ้นเคลื่อนไหวสร้างความมั่นใจใช้ชีวิตในสังคม
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น – จัด “ละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการมองเห็น” ที่โรงเรียนคนตาบอดขอนแก่น หวังให้เด็กพิการสายตามีส่วนร่วมการแสดง จินตนาการไปกับบทบาทตัวละคร มุ่งพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุม โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดจังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นางศรีสุดา วิชากุล นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการมองเห็น” ภายใต้โครงการจินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการมองเห็น มีนายโกมล มาลัยทอง ผู้ลงนามแทน ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ (หัวหน้าโครงการฯ),
น.ส.วิจิตา รชตะนันทิกุล คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมตามสัญญา ให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ประจำปี 2566, นางกรกนก ศิริวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านคนพิการและผู้สูงอายุ ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์, นางสิริธร ภูกองชัย ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการจังหวัดขอนแก่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเด็กพิการทางสายตาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ หัวหน้าโครงการจินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการมองเห็น กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญคือ “การผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เป็นสื่อที่สามารถพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของเด็กพิการทางการมองเห็น และสามารถต่อยอดเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับละครเวทีเรื่องนี้ออกแบบสำหรับเด็กพิการทางการมองเห็น โดยเฉพาะวัตถุประสงค์เราใช้สื่อสร้างสรรค์ให้มีประโยชน์ การพัฒนาด้านศิลปะ ด้านการเคลื่อนไหว การจินตนาการให้มีส่วนร่วมยิ่งขึ้น โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 ส่วนพื้นที่จัดกิจกรรมครั้งแรก จัดที่โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 2 โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และครั้งสุดท้าย จัดที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพมหานคร
ผู้จัดทำโครงการออกแบบสื่อสร้างสรรค์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สื่อการแสดงสดในรูปแบบละครเวทีที่เน้นมีประสบการณ์ร่วม (Immersive Theatre) และ (2) สื่อวิดีโอการเรียนการสอนเพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปพัฒนาเด็กพิการทางการมองเห็นได้ด้วยตัวเอง โดยการออกแบบการแสดงละครที่เน้นให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม เนื่องจากเด็กพิการมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ร่วมเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและการตีความสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น
ผู้กำกับละครเรื่องนี้จึงออกแบบให้เด็กพิการทางการมองเห็นมีส่วนร่วมในการแสดง สามารถจินตนาการไปกับการสมมติบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมเพิ่มมากขึ้น และหลังจากนั้นจึงได้สรุปองค์ความรู้เป็นคลิปสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบวิดีโอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครองสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการและทักษะการเคลื่อนไหวของเต็กพิการทางการมองเห็น ที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้เอง โดยใช้สื่อละครสร้างสรรค์ทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กไห้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่นางกรกนก ศิริวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านคนพิการและผู้สูงอายุ ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่าเนื่องจากเด็กพิการทางการมองเห็นประสบปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างจำกัด เพราะไม่สามารถเรียนรู้วิธีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระได้เหมือนเด็กทั่วไป ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขาดความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดปัญหาด้านบุคลิกภาพและการเคลื่อนไหวในอนาคต
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบกิจกรรมที่เด็กพิการทางการมองเห็นสามารถพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเด็กพิการทางการมองเห็นไม่มีทางเลือกในการรับสื่อสร้างสรรค์ที่หลากหลายมากนัก หรือเมื่อมีกิจกรรมต่างๆ เด็กพิการทางการมองเห็นจะสามารถนั่งรับฟังเพียงอย่างเดียว ซึ่งขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่หลากหลาย จึงเป็นที่มาให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ละครเวทีที่กระตุ้นประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางการมองเห็นได้ โดยออกแบบให้มีส่วนร่วมในการแสดงแบบ 5 มิติ คือ การมองเห็น การฟัง การได้กลิ่น การชิมรส และการสัมผัส
ท้ายสุด น.ส.สุดารัตน์ เพียรโคตร อายุ 21 ปี นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6/9 สายศิลป์ภาษาจีน โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ซึ่งพิการทางการมองเห็น อนาคตจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า มีความยินดี และรู้สึกตื่นเต้น สำหรับโครงการนี้ที่ได้มาจัดกิจกรรมที่โรงเรียนคนตาบอดขอนแก่น ซึ่งจัดเป็นปีแรก และรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน โดยพี่ๆ มีกิจกรรมให้ทำเยอะแยะ อยากขอบคุณสื่อละครสร้างสรรค์ และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้เข้ามาจัดกิจกรรมสนุกๆ ให้ และอยากจะให้มีกิจกรรมดีๆ อีก