จากตำนาน “ไก่เหลืองหางขาว”สู่นวัตกรรมแห่งเส้นสายลายผ้า
ไก่ชนเหลืองหางขาว หรือที่เรียกติดปากกันว่า ไก่ชนพระนเรศวร ด้วยที่มาจากตำนานแห่งวีรกษัตริย์ไทย องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่าตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก (ไก่จากบ้านกร่าง เดิมเรียกบ้านหัวแท ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร) เพื่อไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษ มีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ จึงชนชนะ จนได้รับสมญาว่า เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง
มาวันนี้ไก่เหลืองหางขาว เผยโฉมในรูปแบบของความวิจิตร งดงาม ด้วยสีสันเส้นสายบนผ้าขาวม้าลวดลายใหม่ “เหลืองหางขาว” โดยกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจผ้าทอไทยร่วมใจบ้านกร่างท่าวัว หรือ กลุ่มทอผ้าบ้านกร่าง ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก อันเป็นแหล่งกำเนิดของไก่ชนเหลืองหางขาว
ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผอ.กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มน. เล่าถึงที่มาจากภารกิจของกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เล็งเห็นว่า ผ้าขาวม้า เป็นผ้าทอที่คนไทยคุ้นเคย ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตมาเนิ่นนานทุกยุคสมัย สะท้อนวัฒนธรรม และยังสามารถพัฒนาเป็นสินค้าวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่พบว่า ในจังหวัดพิษณุโลกมีกลุ่มทอผ้าบ้านกร่างเพียงกลุ่มเดียวที่ยังคงทอผ้าขาวม้าออกสู่ท้องตลาด โดยมีผ้าขาวม้าเอกลักษณ์ของกลุ่มอยู่เพียงลวดลายเดียวที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ คือผ้าขาวม้าตาเล็ก สีส้มเหลือง จึงเห็นว่าควรส่งเสริมให้มีผ้าทอรูปแบบเพิ่มเติม เพื่อเป็นทาเลือกให้กับผู้บริโภค และเพิ่มประเภทของผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจผ้าทอไทยฯ
ช่วงระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ในการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ จากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กับเอกลักษณ์เมืองพิษณุโลก บนรากเหง้าวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่การคิดค้น ออกแบบลวดลาย โดยนายวชริพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ นักวิชาการช่างศิลป์ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม นำไปสู่กระบวนการถักทอฝีมือของสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านกร่าง จึงเกิดเป็นผ้าขาวม้าจากเส้นฝ้ายแท้ สีสันของไก่เหลืองหางขาว ได้แก่ น้ำตาล เหลือง ขาว และดำ
สำหรับผ้าขาวม้าต้นแบบ “เหลืองหางขาว” อวดโฉมอยู่ในนิทรรศการผ้าขาวม้า ร่วมกับผ้าขาวม้าโบราณและผ้าขาวม้าจากการประยุกต์พัฒนาของกลุ่มทอผ้า ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้า เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ซึ่งมีความสวยงาม สดใสและร่วมสมัย มีมากกว่า 100 ชิ้น นับเป็นนวัตกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ที่พร้อมเผยแพร่และเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เปิดให้ชม ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มน. จนถึงวันที่ 15 มิ.ย.ศกนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ