หมู่เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล เป็นเกาะเล็กๆ รายล้อมด้วยธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิม ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีบริการที่พักโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านและวิถีชาวประมง
มีการจัดกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ดำน้ำดูปะการัง พายเรือคายัค ชมป่าชายเลนหรือเดินสำรวจธรรมชาติรอบเกาะ นอกจากนี้ ยังมีธนาคารปูม้าไข่ที่ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้นกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดปี ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แต่หากย้อนไปในอดีต ชุมชนแห่งนี้ยากจน รายได้หลักมาจากประมงพื้นบ้านจับปลาปูตามชายฝั่งขาย แต่ต่อมาสัตว์น้ำลดลง เพราะจับกันจนโตไม่ทัน ส่วนใหญ่ขาดจิตสำนึกอนุรักษ์ ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย จับในฤดูวางไข่ และจับสัตว์น้ำยังไม่ได้ขนาด กระทั่งกลายเป็นวิกฤติประมงชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและหนี้สินรุนแรง
วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนหันกลับมาถามหาความต้องการที่แท้จริง และหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง นำมาสู่โครงการศึกษาวิจัยการพัฒนารูปแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง เพื่อพึ่งพาตนเองของชาวประมงพื้นบ้านใน ต.เกาะสาหร่าย ในปี 2555
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ หัวหน้าโครงการฯ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล สำนักงานประมงจังหวัดสตูล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล เพื่อศึกษาศักยภาพการพึ่งพาตนเองในการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง ศึกษาปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาแนวทางส่งเสริมความสามารถในการจัดการฯ และพัฒนารูปแบบการจัดการประมงชายฝั่ง เน้นพึ่งพาตนเอง
มีการใช้วิธีศึกษาจากการสำรวจบริบทชุมชน สัมภาษณ์ สนทนากลุ่ม ประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับแกนนำชุมชน 6 หมู่บ้าน ระดมความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนตำบลและคนในชุมชน และนักวิชาการรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนในชุมชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล หัวหน้าโครงการวิจัยฯกล่าวว่า “โครงการวิจัยนี้เป็นการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อแก้วิกฤติปัญหาประกอบอาชีพประมงชายฝั่งของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ต.เกาะสาหร่าย ผลการวิจัยจากการประเมินศักยภาพพึ่งพาตนเองโดยใช้แบบประเมินศักยภาพท้องถิ่น พบว่า ศักยภาพการพึ่งพาตนเองในแต่ละหมู่บ้านค่อนข้างต่ำและมีความพร้อมต่างกัน
การมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ในการแก้ปัญหามีน้อย ประกอบกับมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดการทรัพยากรหลายประการ จึงต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพประมงชายฝั่ง และให้ความรู้ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยใช้หลักการจัดการร่วม เน้นมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภายนอก ร่วมกันสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบจัดการทรัพยากรประมง บูรณาการความรู้ที่ได้ผนวกกับภูมิปัญญา
โครงการได้พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งเพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวประมงพื้นบ้านขึ้นในหมู่ที่ 2 โดยมีหน่วยงานนอกร่วมสนับสนุน มีการทำแนวเขตอนุรักษ์ ปลูกป่าชายเลน 4 ชั้น ทำโรงแรมปลา ศาลาหมึก ธนาคารปลิง ธนาคารปูม้า สหกรณ์หอยร้อยชนิด บ่อพักสัตว์ทะเลหายาก และปลูกปะการังให้เป็นที่อยู่ปลาการ์ตูน เป็นกิจกรรมเชิงอนุรักษ์เพื่อเพิ่มผลผลิตทรัพยากรทางทะเล
ส่วนกิจกรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เลี้ยงปูม้านิ่ม โรงงานแปรรูปทรัพยากรสัตว์น้ำ แพชุมชน และจากกิจกรรมเหล่านี้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบากันใหญ่ เพื่อจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งแบบพึ่งพาตนเองโดยชุมชน ที่สำคัญกิจกรรมในบากันใหญ่โมเดลได้นำไปบูรณาการกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน
จากการดำเนินงานส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจนในพื้นที่ เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง ชุมชนเรียนรู้การจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง หน่วยงานพันธมิตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนงบฯและร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน ผนวกกับการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งทำกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรประมง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากว่า 10,000 คน ภายในเวลา 5 ปี จนสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 5ล้านบาท
ผศ.ดร.ชัยรัตน์กล่าวว่า “จากเดิมที่ชาวบ้านอาจละเลยหรือมองข้ามการดูแลทรัพยากรประมงของตัวเอง แต่วันนี้หันมาร่วมมือกันมากขึ้น สัตว์น้ำ เช่น ปลาการ์ตูน ปู ปลา กุ้ง หอย ที่เคยหายไป เริ่มกลับมาให้เห็นมากขึ้น ชาวบ้านนอกจากจะมีรายได้จากประมงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวทำให้กลับมามีความสุข ยิ้มได้อีกครั้ง”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ