ระดมหลายหน่วยแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น-ระยะยาว
จากที่ต้นจามจุรี 1 ใน 5 ต้น ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงปลูกไว้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2505 ได้ล้มลงหลังพายุฝนกระหน่ำอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา 62 สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯได้สำรวจและตรวจหาสาเหตุการโค่นล้มลงของต้นจามจุรี ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมป่าไม้ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์, ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พบสาเหตุหลักเกิดจากรากบางตำแหน่งไม่แข็งแรง เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อน และอายุกว่า 57 ปีแล้ว ประกอบกับความไม่เอื้ออำนวยของพื้นที่บริเวณนั้น และการเข้าทำลายของศัตรูพืชระดับใต้ดิน
นอกจากนี้ จากการสำรวจความสมบูรณ์ของต้นจามจุรีทรงปลูก 4 ต้นที่ยังเหลืออยู่ พบว่าบางต้นเริ่มมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง โดยแนวทางระยะแรกจะฟื้นฟูสภาพปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบจากที่เป็นคอนกรีต เพิ่มพื้นที่หน้าดินให้มากขึ้น ระยะที่สอง ฟื้นฟูระบบราก ระยะที่สาม ตัดแต่งลดพุ่มกว้างของต้นโดยรอบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทั้งสี่ต้นขยายกิ่งก้านสาขาได้เต็มที่ ระยะที่สี่ หลังรากสมบูรณ์แข็งแรงจะปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสนามหญ้าต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ