คงไม่ใช่โอกาสที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ที่จะได้เข้า Workshop African Dance ในตอนเช้า ฟัง Lunch Time Concert จากวงดนตรีหลากหลายชาติ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ภูฏาน ฯลฯ ที่สลับสับเปลี่ยนกันมาขับกล่อมในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนจะสนุกสนานเมามันกับวงหมอลำดูซิ่งในช่วงเย็น ในรั้วจามจุรีแห่งนี้ ระหว่างวันที่ 11 -17 ก.ค.62
ใครที่ผ่านหน้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม และอาคารสยามบรมราชกุมารี ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะเห็นผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติแต่งกายชุดประจำชาติเดินขวักไขว่ไปมา พร้อมด้วยการแสดงดนตรีแปลกหู นาฏศิลป์แปลกตาจากทั่วโลก ที่จัดขึ้นภายใต้งาน The 45th International Council for Traditional Music World Conference ซึ่งเป็นการประชุมของ “สภาดนตรีโลก” สมาคมวิชาชีพดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 70 ปี มีสมาชิกทั้งหมด 129 ประเทศ และกว่า 5,000 คนทั่วโลก
ศ. ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ประสานงานหลัก เปิดเผยว่าประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ “Transborder” หมายถึง เมื่อมีคนอพยพเข้ามาหรือออกไปจะมีวัฒนธรรมที่ติดตัวผู้อพยพเดินทางมาด้วย เช่น ในตะวันออกกลางที่มีการอพยพของชาวซีเรียเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ชาวซีเรียบางคนได้เอาดนตรีที่สร้างความฮือฮาให้กับชาวยุโรปที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นอกจากนั้นยังได้ใช้ดนตรีทำหน้าที่ในการเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์
ส่วนประเทศไทยเรานั้นประเด็นที่น่าสนใจก็คงเป็นเรื่อง “Political Song” จะเห็นได้ว่าผู้นำคนปัจจุบันของเราเป็นนักแต่งเพลง โดยได้มีความพยายามในการใช้เพลงในการจูงใจคน ซึ่งหัวข้อเหล่านี้เป็นหัวข้อที่นักมานุษยวิทยาทางดนตรีหรือนักดนตรีชาติพันธุ์วิทยาให้ความสนใจเป็นพิเศษว่า บริบทของดนตรี เช่น เนื้อหา ทำนอง และองค์ประกอบอื่น ๆ นั้นมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือการจูงใจคน ซึ่งหวังว่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวในด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับ ดนตรีชาติพันธุ์วิทยา (Ethno Musicology)
นักวิชาการ นิสิตระดับปริญญาเอกและโทในด้านดนตรีและนาฏศิลป์ที่เข้าร่วมงานนี้จะได้สัมผัสประสบการณ์ในด้านการทำวิจัยและด้านวิชาการระดับโลก ได้รู้ว่านักวิจัยในระดับนานาชาติทำอย่างไรในการลงพื้นที่เพื่อศึกษาเรื่องดนตรีชาติพันธุ์วิทยา รวมทั้งได้เห็นเสนอผลงานแบบมืออาชีพ นอกจากนั้นยังหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการทำ Co-Research กับหลาย ๆ มหาวิทยาลัยต่อไป ทำให้มีผลงานทางวิชาการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลงานวิจัยในระดับโลกซึ่งจะสร้างความโดดเด่นให้กับจุฬาฯ ในระดับนานาชาติ ทำให้ World Ranking Order ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของเราจะสูงขึ้น โดยเฉพาะทางด้านมนุษยศาสตร์ การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงศักยภาพ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านวิชาการ และด้านการวิจัย ศ.ดร.บุษกร กล่าวเสริม
จะเห็นได้ว่าการจัดประชุมครั้งนี้ยังประโยชน์แก่ประเทศและมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพมากมาย ทำให้มีหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างเสนอเข้าเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าว ศ.ดร.บุษกร ให้เหตุผลที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ว่า
“ส่วนหนึ่งเรามีการนำเสนอที่ดี มีความพร้อมทั้งในเรื่องของสถานที่จัดงานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ นั้นมีชื่อเสียงระดับโลก” การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพราะการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรอบ 70 ปี ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ผู้ที่พลาดการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ต้องรออีกหลายสิบปีกว่าที่การประชุมนี้จะวนกลับมาจัดในประเทศละแวกนี้
นอกจากนักวิชาการแล้ว บุคคลทั่วไปที่สนใจด้านดนตรีและนาฏศิลป์ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย การปาฐกถาในหัวข้อ “Transborder of Theories and Paradigms in Ethnomusicological Studies of Folk Music: Visions for Mo Lam in Mainland Southeast Asia” โดย ผศ.ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ เป็น Keynote Speaker การแสดงโขน จากกระทรวงวัฒนธรรม และการแสดงจาก ราชินีหมอลำซิ่ง “ราตรี ศรีวิไล”
ต่อยอดไปจนถึงในตอนเย็นกับ “รถหมอลำ” พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ โดย หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ที่จำลองบรรยากาศของวงดนตรีหมอลำสมัยก่อนที่มักจะขบวนด้วยรถบัสไปสร้างความบันเทิงให้กับพี่น้องชาวอีสาน ที่จะจัดเพื่อต้อนรับผู้ร่วมงานจากทุกมุมโลก บริเวณลานหน้าอาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ นอกจากนั้นยังมีการให้ยืมชุดไทยถ่ายรูปกับสวยแบบไทยให้แขกผู้มาเยือนจากต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยได้ถ่ายรูปสวยๆเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของจุฬาฯ และนานาชาติ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงดนตรี และนาฏศิลป์ที่จะจัดแสดงให้ได้ได้รับชมรับฟังเท่านั้น ยังมีวงดนตรีจากต่างประเทศ และการแสดงที่น่าสนใจจากทุกมุมโลกที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านดนตรีในระดับสากลที่จุฬาฯ
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-4566, 089-4443352 และ Facebook https://www.facebook.com/ictm2019thailand/ หรือลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ http://www.ictm2019thailand.com/
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ