ชงครม.ประเดิมงบฯกลาง2พันล้านปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่
วันที่ 9 เม.ย.2561 นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานหลักสูตรการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวศึกษา เสนอหลักสูตรเข้ามาให้พิจารณา มีหลักสูตรที่ผ่านการกลั่นกรองแล้ว จำนวน 200 กว่าหลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 119 หลักสูตรใน 20 วิทยาลัย เน้นให้คนที่ทำงานอยู่แล้วประมาณ 20 ล้านคนในระบบเข้ามาเรียน เพื่อพัฒนาทักษะและสมรรถนะ เมื่อจบแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองแต่ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา
อีกส่วนคือการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี จำนวน 100 กว่าหลักสูตรใน 20 มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนรายหัว ซึ่งจะเริ่มรับสมัครนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในปีการศึกษา 2561 นี้ทันที
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ในส่วนของหลักสูตรระยะสั้นจะให้งบฯอุดหนุนรายหัว เฉลี่ยรายละ 6 หมื่นบาทต่อคนต่อหลักสูตร และจากหลักสูตรที่เสนอมาสามารถผลิตได้ 2.6 หมื่นคนต่อปี ใช้งบฯ ปีแรก 1,500 ล้านบาท หลักสูตรระดับปริญญาตรี แต่ละสาขาจะใช้งบฯ 1-2 แสนบาทต่อคนต่อปี ผลิตบัณฑิตได้จำนวน 1 หมื่นคน ใช้งบฯ ปีแรก 560 ล้านบาท รวมปีการศึกษา 2561 ต้องใช้งบฯ ดำเนินการโครงการดังกล่าว จำนวน 2,060 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 เม.ย.นี้
สำหรับปีแรกจะเสนอขอใช้งบฯกลางเพื่อดำเนินการก่อน เพื่อให้ทันต่อการรับนักศึกษาเข้าเรียนทั้งสถาบันอาชีวศึกษาที่จะเปิดเทอมในกลางเดือน พ.ค. และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันศึกษาในระบบกลาง ปีการศึกษา 2561 ในระบบทีแคส รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอของบฯ ต่อเนื่องระยะ 5 ปี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น รวมงบฯ ที่ต้องใช้ในโครงการนี้ทั้งหมดประมาณ 1.1 หมื่นล้าน
“เรื่องนี้เป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการผมมาโดยตรงด้วยวาจา ให้แก้ไขปัญหาปัญหาบัณทิตตกงาน และทำให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตตอบยุทธศาสตร์ชาติและอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน ศธ.จึงต้องวางแผนการทำงาน หากจะรอมาปรับทั้งระบบเป็นเรื่องยาก เพราะมหาวิทยาลัยก็มีความเป็นอิสระในการกำหนดหลักสูตรเอง จึงคิดโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ขึ้นเพื่อตอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายประเทศไทย หรือไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งเราจะใช้ตรงนี้มาเป็นเป้าในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนคนทำงาน
ที่สำคัญคือการร่วมมือกับภาคเอกชน โดยกำหนดว่าหลักสูตรการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะต้องไปเรียนของจริง ทำงานในสถานที่จริง 50% ของเวลาเรียนทั้งหมด เช่น หลักสูตร 4 ปี ต้องเรียนในสถานที่จริง 2 ปี ขณะเดียวกันอาจารย์ก็จะต้องตามไปดูแลตลอดทุกวัน ภาคอุตสาหกรรมก็จะต้องตั้งคนมาสอนควบคู่กับมหาวิทยาลัย เป็นการสร้างคนให้มีแนวคิด คิดวิเคราะห์ และทำงานได้จริงจากประสบการณ์จริง”นพ.อุดม กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ