เน้นมาตรฐานเชิงรุกก้าวสู่ผูู้นำการเปลี่ยนแปลง
วันที่ 28 ส.ค.60 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานวิชาชีพครู ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานวิชาชีพครู เมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังไม่มีการพิจารณาการจัดทำข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบ เนื่องจากแต่ละกลุ่มยังไม่มีข้อมูลและข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้นต้องรอผลการศึกษาข้อมูลของแต่ละกลุ่มสักระยะก่อนนำมาประมวลผลวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียร่วมกัน ส่วนจะทันในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 หรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ เพราะตามกระบวนการแม้จะสรุปได้แล้วว่าจะผลิตครู 4 ปี หรือ 5 ปี แต่ก็ต้องมาจัดทำมาตรฐานหลักสูตรใหม่ รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา(มคอ.1) สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่กันไปด้วย และทุกเรื่องต้องใช้เวลาพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติรับทราบแนวทางการมาตรฐานวิชาชีพครู จากเดิมที่มี 11 มาตรฐาน มาเป็นมาตรฐานที่อิงสมรรถนะมากขึ้น แบ่งเป็น 4 มาตรฐานหลัก คือมาตรฐานด้านวิชาการ มาตรฐานด้านทักษะ มาตรฐานด้านทัศนคติ และมาตรฐานด้านชุมชน ซึ่งต่อไปจะให้อิสระมหาวิทยาลัยเลือกผลิตบัณฑิตตามความถนัด และสามารถเน้นได้ว่าจะผลิตบัณฑิตให้มีสมรรถนะตรงตามความถนัดในด้านใด เพื่อให้ตรงกับความต้องการ โดยในวันที่ 8 ก.ย.60 นี้จะนำมาตรฐานดังกล่าวไปประชาพิจารณ์ รายละเอียดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นว่าเมื่อมีการปรับมาตรฐานวิชาชีพครูแล้ว ควรทบทวนและปรับมาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และมาตรฐานวิชาชีพศึกษานิเทศก์ด้วย
โดยเฉพาะมาตรฐานผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งใช้มานานและเป็นการรับซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ผลักดันให้ผู้บริหารสถานศึกษา ยกระดับคุณภาพและปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น โดยต้องปรับมามาตรฐานเชิงรุก ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคต ที่ต้องเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง ส่วนศึกษานิเทศก์ ก็ถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญในการเข้าไปช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของครู
ดังนั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ จะทำการปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าว และเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิจจารณาให้ความเห็นชอบ
“ส่วนจะต้องมีการปรับให้มีการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ เช่นเดียวกับการปรับการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าใบอนุญาตฯ ผู้บริหารมีความแตกต่างกับครู โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา ที่ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานและประสบการณ์ด้านการบริหารมาระดับหนึ่ง ไม่ได้ใช้ความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว และหากเราไปยึดการสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตฯ ก็อาจจะไปปิดโอกาสผู้มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นต้น” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ