‘ชัยวุฒิ’ เล่าความภูมิใจ เคยร่วมอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ฝากนิสิตรุ่นน้องคิดถึงคุณค่า-เกียรติภูมิอยู่เสมอ
จากกรณีที่ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยช่วงหนึ่งระบุว่า คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 27 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป (คลิกอ่าน การแก้ไขข้อมูลจำนวนการลงมติ)
- สโมสรนิสิตจุฬาฯ มติเอกฉันท์ เลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยว ชี้เป็นธรรมเนียมสะท้อนความไม่เท่าเทียม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะอดีตนิสิตจุฬาฯ และอดีตหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2536 ระบุว่า พระเกี้ยว สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวนิสิตจุฬาฯ อันมาจากชื่อของมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย
“หากสืบประวัติที่มาของประเพณีการอัญเชิญตราพระเกี้ยวเข้ามาในสนามแข่งขันนั้น น่าจะคล้ายเหมือนเป็นการเปิดงาน ซึ่งทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ส่วนจุฬาฯ เชิญตราพระเกี้ยว
“การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า ‘สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ’
“ผมในฐานะอดีตหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2536 มีความภาคภูมิใจในอดีตที่ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณี ผมจำได้ดีว่าพวกเราทุกคนจะแบ่งหน้าที่กันทำกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ ผมเชื่อมั่นว่านิสิตทุกคนที่อยู่ในงานมีความสุขและดีใจที่ได้มาร่วม แม้ว่าจะเป็นคนแบกเสลี่ยง เราก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของเรา
“สังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมบางอย่างอาจต้องเปลี่ยน แต่คุณค่าของพระเกี้ยวสำหรับชาวจุฬาไม่เคยเปลี่ยน ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ครับ และขอให้น้องๆ นิสิตจุฬาฯ ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมกันอย่างไร ก็ขอคิดถึงคุณค่าของพระเกี้ยว และเกียรติภูมิที่พวกเรายึดถือกันไว้ตลอดมา
“เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงเย็นที่ผ่านมา องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯได้เปิดแบบฟอร์มขอรับความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปใช้ในการผลักดันข้อเสนอ สร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ หรือปรับปรุงกิจกรรมฟุตบอลประเพณีในภาพรวมต่อไป
คลิก เพื่อแสดงความเห็น