ชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร
ยุคก่อนประวัติศาสตร์หมายถึงยุคที่ไม่มีการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงตำนานบอกเล่าแล้วเอามาเขียนทีหลัง แต่ก็มีเรื่องที่นักคิดนักจินตนาการสร้างคำอธิบายจากข้อสังเกตบางประการ มีนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ เป็นต้น แต่ผมคิดว่าการศึกษา DNA ในซากมนุษย์/ซากสัตว์โบราณมีความน่าเชื่อถือกว่าการใช้จินตนาการ แต่ที่น่าสนใจมากคือการศึกษาด้านโบราณคดี หมายถึงการค้นหาหลักฐานทางกายภาพที่ขุดพบได้ในสถานที่ที่มนุษย์เคยตั้งถิ่นฐานมาก่อน ความรู้ที่ผมมีในเรื่องชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์ย่อมจำกัดเป็นธรรมดา แต่ก็พอเก็บเกร็ดความรู้มาเล่าสู่กันฟังได้บ้าง เกร็ดความรู้ที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากหนังสือชื่อ Sapiens ที่เขียนโดย Yuval Noah Harari และจากหนังสือชื่อ The Dawn of Everything: A New History of Humanity เขียนโดย David Graeber & David Wengrow
มนุษย์ย่อมอยากรู้ความเป็นมาของตน ปัจจุบันเรามีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มีเครื่องมือที่จะวัดอายุของวัตถุทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น เรื่องราวของบรรพชนจึงค่อย ๆ คลี่คลายด้วยคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น บรรพชนของเรามีสมญาว่ามนุษย์ฉลาด หรือที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาลาตินว่า Homo Sapiens พวกเขาเริ่มอพยพออกมาจากแอฟริกาเมื่อประมาณ 70,000 ปีก่อน มนุษย์ฉลาดมีสติปัญญา สามารถเรียนรู้ จดจำและสื่อสารแบบง่าย ๆ ได้ ในช่วงเวลา 40,000 ปีต่อมา มนุษย์ฉลาดได้สร้างสิ่งประดิษฐ์หลายสิ่งหลายอย่างเพื่อช่วยในการดำรงชีวิต เช่น เรือ ตะเกียงน้ำมัน คันธนูและลูกศร เข็มสำหรับเย็บหนังเป็นเครื่องนุ่มห่ม ศิลปวัตถุ เครื่องประดับ และวัตถุอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นของศาสนา การค้า และลำดับชั้นทางสังคม มนุษย์มีความสามารถที่จะร่วมมือกันในการล่าสัตว์หรือการต่อสู้ ความสามารถนี้คงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์กลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ที่ได้รับสมญาว่า Neanderthal และมนุษย์ที่มีชื่อเรียกว่า Homo และต่อท้ายด้วยคำอื่นที่ไม่ใช่ Sapiens ต้องสูญพันธุ์ไป มนุษย์ฉลาดได้กระจายตัวไปทั่วทุกทวีป เช่นได้ไปถึงทวีปออสเตรเลียประมาณ 45,000 ปีก่อน และถึงทวีปอเมริกาประมาณ 16,000 ปีก่อนปัจจุบัน เหตุแห่งการเคลื่อนย้ายอาจเป็นเพราะการหาเลี้ยงชีพของบรรพชนสมัยนั้นคือการไล่ล่าสัตว์ มีสัตว์ให้ล่าที่ไหน ก็ตามไปถึงที่นั่น พอมาถึงที่ใหม่ก็จะเริ่มล่าสัตว์ตัวใหญ่ที่อุ้ยอ้ายและค่อนข้างเชื่องเพราะไม่มีเคยศัตรูมาก่อน การมาถึงของมนุษย์ฉลาดในทวีปออสเตรเลียและอเมริกา คือหายนะของสัตว์ตัวใหญ่เหล่านั้นที่ถูกล่าจนสูญพันธุ์
มีมนุษย์จำนวนหนึ่งเริ่มตั้งถิ่นฐาน เช่นที่หมู่บ้านเจริโก เมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อนปัจจุบัน เชื่อกันว่ามนุษย์ในบริเวณนั้นเปลี่ยนการเลี้ยงชีพจากการหาเก็บพืชและล่าสัตว์มาเป็นการเพาะปลูก จึงมีเรื่องเล่าที่เราคุ้นเคยในชื่อว่า “การปฏิวัติเกษตรกรรม” ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 12,000 ปีก่อนในตะวันออกกลาง บริเวณปากแม่น้ำไนล์ ริมฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบางส่วนของประเทศอิรัก คูเวต ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน อิสราเอล และปาเลสไตน์ปัจจุบัน พื้นที่นี้รวมกันเรียกว่าจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent) ที่รวมถึงหมู่บ้านเจริโกด้วย ในบริเวณนี้ มนุษย์เริ่มหันมาทำการเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมแก่การบริโภคมาเพาะปลูก และเลือกพันธุ์สัตว์ที่สามารถทำให้เชื่องได้มาเลี้ยงเพื่อใช้เป็นแรงงานและอาหารหรือเพื่อประโยชน์อื่น ๆ เช่น เฝ้าบ้าน เฝ้าฝูงแกะ เป็นเพื่อน
เรื่องที่เล่ากันจนเราคุ้นเคยจะเน้นการเปรียบต่างระหว่างเกษตรกรผู้เพาะปลูกกับผู้หาและเก็บพืช ผู้เพาะปลูกจะตั้งถิ่นฐานอยู่กับที่ส่วนผู้หาและเก็บพืชจะเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ผู้เพาะปลูกคือผู้ผลิตอาหารส่วนผู้หาและเก็บพืชหาเอาตามที่พืชขึ้นเอง ผู้เพาะปลูกยอมรับการมีสมบัติส่วนตัวส่วนผู้หาและเก็บพืชเห็นว่าสิ่งที่ธรรมชาติให้ไม่ใช่สมบัติของใคร สังคมเกษตรกรรมมีความไม่เสมอภาคส่วนสังคมของผู้หาและเก็บพืชมีความเท่าเทียมกันมากกว่า ชะตากรรมของผู้หาและเก็บพืชมีแต่จะวิวัฒนาการมาเป็นผู้เพาะปลูกมิฉะนั้นก็กระจัดกระจายและสูญสลายไป
หนังสือที่ผมได้อ้างถึงได้ประมวลผลการศึกษาสังคมก่อนยุคประวัติศาสตร์ในบริเวณจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ ข้อค้นพบของนักโบราณคดีหลายต่อหลายคนจะตรงกันว่า สังคมเกษตรกรรมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเหมือน “การปฏิวัติ” หากใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสามพันปี การเพาะปลูกทำให้มีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นก็จริง แต่ปรากฏการณ์นี้ผุดบังเกิดขึ้นในอีกหลายพันปีต่อมา อันที่จริง ดูเหมือนว่าเกษตรกรในเวลานับพันปีนั้น ยังคลำทางและลองจัดระเบียบสังคมในรูปแบบต่าง ๆ อันที่จริง สังคมเกษตรกรรมทำให้เกิดทรัพย์สมบัติส่วนตัว ชนชั้นทางสังคม ความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงทางสังคมอย่างช้า ๆ แต่ก็น้อยกว่าการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เหล่านี้ในสังคมที่ราบสูงใกล้เคียง
นักสังคมวิทยาจำนวนหนึ่งมีคำอธิบายว่า การที่สังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมมีความเท่าเทียมกันพอสมควรนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่การผลิตอาหารของเกษตรกรแวดล้อมด้วยพิธีกรรมทางสังคมและการเฉลิมฉลองนานารูปแบบ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมของสตรี และการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ทางศิลปะและทางพิธีกรรมของพวกเธอ ซึ่งล้วนส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ต่างจากสังคมที่ราบสูงที่เน้นการบังคับด้วยความรุนแรง
ที่เกอเบกลี เถอะเปอะ (Göbekli Tepe) สถานที่การขุดค้นทางโบราณคดีที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี นักโบราณคดีได้ค้นพบหินที่แกะสลักขนาดใหญ่ บางต้นสูงห้าเมตร สูงที่สุดถึงสามสิบเมตร วางอยู่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา เราอาจคิดว่าโครงสร้างที่จำเป็นต้องใช้คนสร้างจำนวนมากเช่นนี้ น่าจะสร้างขึ้นโดยชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรขนาดใหญ่ แต่โครงสร้างนี้มีอายุประมาณ 11,500 ปีก่อนปัจจุบัน นั่นคือช่วงต้น ๆ ของการเพาะปลูกด้วยซ้ำ ห่างจากสถานศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประมาณสามสิบกิโลเมตร มีการขุดพบข้าวสาลีที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม และนำมาเก็บไว้เพื่อเพาะปลูกในระยะแรกเริ่มของการเกษตร ข้อสันนิษฐานก็คือ สถานศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นผลงานของผู้หาและเก็บพืชที่มารวมกันเพื่อการนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยกองกำลังบำรุงที่ผลิตข้าวสาลี กลายเป็นว่าเกษตรกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าต้องการเพิ่มเสบียงอาหาร หากต้องการเลี้ยงดูคนที่มาช่วยสร้างสถานศักดิ์สิทธิ์มากกว่า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก่อน หมู่บ้านจึงตามมา
นักโบราณคดีได้ขุดพบการตั้งถิ่นฐานในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่นที่ประเทศยูเครนและมอลโดวา พวกเขาเรียกถิ่นฐานเหล่านี้ว่า Megasites หรือถิ่นฐานขนาดมหึมา แปลกที่ไม่เรียกว่าหมู่บ้าน แต่ก็ลังเลที่จะเรียกเป็นเมืองเพราะลักษณะไม่เหมือนเมืองทั่วไปอย่างที่เข้าใจกัน ตัวอย่างเช่น ถิ่นฐานที่ชื่อ Taljanky มีพื้นที่ประมาณสองพันไร่ คือใหญ่กว่าเมืองในเมโสโปเตเมีย เช่น Uruk ในระยะแรกอยู่บ้าง ทัลจันกีไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการบริหารงานแบบรวมศูนย์ ไม่มีคลังสินค้ากลาง ไม่มีอาคารของฝ่ายปกครอง ไม่มีป้อมปราการ ไม่มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่พอจะเป็นอัครสถานของผู้ปกครอง หรือที่ทำการของเทศบาล หรือมีลักษณะเหมือนพื้นที่สาธารณะของเมืองอูรุก หรือเหมือนที่อาบน้ำขนาดใหญ่ของเมืองโมเฮนโจ-ดาโร มีแต่เพียงบ้านกว่าหนึ่งพันหลัง เป็นบ้านสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร มีสวนอยู่ข้างบ้าน เหมือนกันหมด บ้านทั้งหมดเรียงรายเป็นวงรี ตรงกลางวงรีคือพื้นที่ว่างซึ่งนักโบราณคดีคาดหวังว่าจะขุดพบร่องรอยของสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่หรือหลุมฝังศพอันงดงาม แต่ก็เปล่า ไม่พบอะไรเลย
ที่ข้างหัวนอน ผมวางหนังสือไว้หลายเล่ม เล่มหนึ่งเอาไว้เปิด ๆ ดูเวลานอนไม่หลับ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า “The Penguin Atlas of Ancient History” เขียนโดย Colin McEvedy พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 หนังสือเล่มนี้บอกเล่าพัฒนาการของสังคมมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ยุคหินกลาง ต่อด้วยยุคหินใหม่ ยุคทองแดง ฯลฯ จนถึงยุครุ่งโรจน์ของจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิเปอร์เซียในปี ค.ศ. 362 น่าเสียดายที่พื้นที่ของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โบราณที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้จำกัดอยู่เฉพาะเขตแอฟริกาเหนือ ตะวันออกลาง และยุโรป ไม่รวมถึงจีนและอินเดีย จุดเริ่มเปลี่ยนจากยุคก่อนประวัติศาสตร์มาเป็นยุคประวัติศาสตร์ของภูมิภาคใด อาจนับได้จากการประดิษฐ์ตัวอักษรและภาษาเขียนในภูมิภาคนั้น ซึ่งในราว 4,250 ปีก่อนปัจจุบัน ภาษาเขียนเกิดขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำ 3 แห่งคือ ลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ ลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทีสของตะวันออกกลาง และลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งมีโมเฮนโจ-ดาโรและฮารัปปาเป็นเมืองสำคัญ น่าเสียดายที่การรุกรานของชาวอารยันได้ทำลายเมืองทั้งสองและทำให้ภาษาของลุ่มน้ำนี้ต้องสูญหายไปด้วย
คำว่า Atlas ในชื่อหนังสือหมายถึงการใช้แผนที่เพื่อเล่าเรื่องราว ซึ่งเป็นเรื่องของชาวอินโด-ยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายจากเอเชียกลางไปทางตะวันตก และแตกแขนงเป็นเชื้อชาติย่อยนับสิบเชื้อชาติ ที่ก่อตั้งอาณาจักรในต่างยุคต่างสมัยและรุกรานซึ่งกันและกันตลอดมา ชาวอินโด-ยุโรปอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปทางตะวันออก ได้แก่ชาวอารยันที่เคลื่อนย้ายมาถึงอินเดีย อีกส่วนหนึ่งคือชาวอิหร่านที่ย้อนกลับไปทางตะวันตกและก่อตั้งอาณาจักรเปอร์เซียขึ้น
นอกจาก Atlas เล่มนี้จะเล่าเรื่องราวของชาวอินโด-ยุโรปเป็นหลักแล้ว ยังกล่าวถึงเชื้อชาติที่ไม่ถูกรุกรานหรือถูกกลืนกลายโดยชาวอินโด-ยุโรปในช่วงเวลายาวนานหลายสหัสวรรษ และดำรงอัตลักษณ์ไว้ได้ เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอยู่รอบนอกของคลื่นการเคลื่อนย้ายของชาวอินโด-ยุโรป หนังสือกล่าวถึงผู้อาศัยอยู่ในแอฟริกาเหนือ ซึ่งเชื้อชาติหลักคือชาวฮาไมต์หรือชาวอาหรับ กับเชื้อชาติซูดานทางใต้ของอียิปต์ ในตะวันออกกลางเชื้อชาติหลักคือชาวเซไมต์ ซึ่งรู้จักกันในนามของชาวอาระเบียและชาวอิสราเอลที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ในยุโรปเอง มีเชื้อชาติที่ไม่ใช่ชาวอินโด-ยุโรปดำรงอยู่ประมาณ 4 เชื้อชาติ ได้แก่ชาวคอเคเซียนที่ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลแคสเปียน ชาวฟินน์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในยุโรปตอนเหนือ ชาวเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกซึ่งสันนิษฐานว่าในปัจจุบันคือชาวบาสก์ที่อาศัยยู่ในตอนเหนือของสเปนและตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งภาษามีความคล้ายคลึงกับภาษาคอเคเซียน มีชนชาติอีกชาติหนึ่งที่ทิ้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้แต่ยังเป็นปริศนาเรื่องที่มาที่ไป ได้แก่ชาวอีทรัสคันที่เคยอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลีและในเกาะคอร์ซิกาของฝรั่งเศส
ต่อมาในยุคแสงสว่างของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 นักคิดชาวอังกฤษชื่อโทมัส ฮอบบ์สได้เขียนหนังสือชื่อ Leviathan ในปี ค.ศ. 1651 เขาได้เสนอทฤษฎีว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว และอยู่ในสภาวะที่ทุกคนทำสงครามกับทุกคน จึงจำเป็นต้องมีสถาบันทางการเมือง เช่น รัฐบาล ศาล องค์การปกครอง ตำรวจ ไว้คอยควบคุมมิให้ความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุแห่งการทำร้ายกัน ส่วน ฌัค-ฌากส์ รุสโซเขียนหนังสือซึ่งแปลชื่อจากภาษาฝรั่งเศสได้ว่า “วาทกรรมว่าด้วยที่มาและมูลฐานความไม่เสมอภาคระหว่างมนุษย์” ในปี ค.ศ. 1754 โดยมีทฤษฎีว่า มนุษย์เกิดมาเป็นคนดี เป็นผู้หาและเก็บพืชและล่าสัตว์ในการดำรงชีวิต สังคมก่อนยุคประวัติศาสตร์จึงเป็นสังคมขนาดเล็กที่มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน แต่การเปลี่ยนวิถีชีวิตมาทำการเกษตรเป็นที่มาของความไม่เสมอภาค แล้วจากหมู่บ้านก็วิวัฒนาการมาเป็นเมือง เป็นนคร เป็นรัฐ พร้อมด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่, กองทหารอาชีพ, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ สรุปคือ ขณะที่รุสโซ โอดครวญเรื่องที่มาของความไม่เสมอภาคและการถูกควบคุมโดยระบบราชการ ฮอบบ์สกลับมองว่าระบบควบคุมต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่รุสโซมองว่ามนุษย์ก่อนยุคประวัติศาสตร์เป็นคนป่าเถื่อนที่ดี (bon sauvage) ฮอบบ์สกลับมองว่าเป็นคนป่าเถื่อนที่เห็นแก่ตัว ทฤษฎีของทั้งสองมีอิทธิพลสูงมากจนทุกวันนี้ แม้จะถูกปฏิเสธโดยการค้นพบโดยเฉพาะทางโบราณคดีในระยะหลังก็ตาม ผู้คนยังมักจะเชื่อคนใดคนหนึ่งอยู่ดี แต่ถ้าเปลี่ยนมาเชื่อข้อค้นพบทางโบราณคดี อาจสรุปได้ว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีทั้งความดีและความเห็นแก่ตัวเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน พวกเขาจัดรูปแบบสังคมอย่างหลากหลายมาก หมู่บ้านเกษตรกรในยุคนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายและมีความเสมอภาคมากบ้างน้อยบ้าง แทบไม่ต่างอะไรกับกลุ่มชนที่ย้ายที่อยู่อาศัยไปตามฤดูกาล ตามที่ที่ธัญพืชอุดมและมีสัตว์ให้ล่า หมู่บ้านไม่จำเป็นต้องมีลำดับชั้นทางสังคม ถิ่นฐานขนาดมหึมาก็คือเมืองในรูปแบบหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งต่างจากรูปแบบอื่นตรงที่ไม่มีลำดับชั้นก็ได้ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังยุคประวัติศาสตร์ มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม อาหาร การค้า และความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ รวมถึงวิสัยทัศน์และความคิดทางการเมืองของผู้นำ โดยมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อน คือไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างเชิงเส้นจากสังคมหาเก็บพืช เป็นสังคมเกษตรกรรม เป็นสังคมอุตสาหกรรม เป็นสังคมดิจิทัล เสมอไป มนุษย์มีจินตนาการและสามารถเลือกรูปแบบสังคมได้มากกว่าจะคล้อยตามวาทกรรมหลักที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่งใด
คนไทยจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไตซึ่งยุคประวัติศาสตร์อาจเริ่มต้นมาประมาณพันปี แต่ยุคประวัติศาสตร์ของคนไทยโดยเฉพาะ กล่าวกันว่าเริ่มจากการประดิษฐ์ตัวอักษรในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเมื่อประมาณเจ็ดร้อยกว่าปีก่อน อย่างไรก็ดี มีความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ก่อนยุคประวัติศาสตร์ว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตเมื่อหกพันปีก่อน แล้วอพยพมาอยู่แถวแม่น้ำแยงซีเกียง จนกระทั่งร่นลงมาถึงสุวรรณภูมิปัจจุบัน นับว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่ขาดหลักฐานทางโบราณคดีหรือทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ผมเดาว่าแรงจูงใจในการเขียนเช่นนี้คือความเป็นชาตินิยมที่คิดว่าชาติของเราต้องยิ่งใหญ่และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน จะโทษใครก็ไม่ค่อยดี คนชาติอื่นบางคนก็คิดเช่นนี้สำหรับชาติของเขา อันที่จริง ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ก่อนยุคประวัติศาสตร์ของคนไทยที่พอเชื่อถือได้ก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถภูมิใจในบรรพชนคนธรรมดาที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ผสมปนเปกันที่เราสืบเชื้อสายมาได้อยู่ดี
โคทม อารียา