ทหารประชาธิปไตย
ในฐานะที่โดยอาชีพส่วนหนึ่ง ผู้เขียนก็อยู่ในแวดวงการศึกษา ทั้งในส่วนที่เป็นครูบาอาจารย์ และอยู่ในสภาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรทั้ง ป.เอก ป.โท จึงมีความสนใจในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่ารากฐานสำคัญในการสร้างชาติก็คือการสร้างคน ให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมพอสมควร แต่ไม่ใช่สร้างคนแบบหุ่นยนต์
เมื่อได้มีโอกาสไปทำงานให้สภาการศึกษาแห่งชาติในฐานะคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา ก็ไม่รู้สึกพึงพอใจกับผลงานที่มีส่วนร่วมเท่าไร เพราะเห็นว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ที่ควรจะเป็น
ครั้นมาอ่านบทความของท่านอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนติดตามผลงานและให้ความนับถือมานานก็เกิดความสว่างวาบขึ้นในมโนคติ เพราะมันคือสิ่งที่ผู้เขียนสะสมความคิดไว้ แต่ไม่อาจประมวลออกมาได้ดังใจนึก พออ่านบทความของท่านก็ต้องบอกว่าใช่เลย
วันนี้ก็เลยถือโอกาสเอาบทความของท่านมาวิเคราะห์และขยายความชื่อวนลูปปฏิรูปการศึกษา โดยนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ดังนี้
สนช.ได้อนุมัติงบประมาณ 250,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแผนกการศึกษาแห่งชาติตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาลง 10 เท่า ซึ่งถ้าดูตามที่ตั้งเป้าก็ต้องถือว่าใช้ได้ดีภายในเงื่อนไขของเวลาและเงินทอง โดยมีกรอบแนวคิดตามยุทธศาสตร์ชาติ 4 ประการคือ
1.จะทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อเอาเด็กยากจนมาเข้าโรงเรียน ซึ่งอาจารย์นิธิ ก็ตั้งเป็นประเด็นคำถามว่า ด้วยงบเท่ากันหรือมากกว่าทำไมไม่คิดกลับกันคือ เอาโรงเรียนไปให้เด็ก ซึ่งอาจทำได้หลากหลาย เช่น เรียนเสาร์-อาทิตย์ เพราะเด็กยากจน อาจต้องช่วยพ่อแม่ทำงานเลี้ยงชีพ หรือเป็นแหล่งที่มีครูเป็นที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงที่จะคอยให้คำแนะนำนักเรียนที่จะทำการศึกษาด้วยตัวเอง ยิ่งถ้ามีระบบการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตที่กว้างขวาง ก็สามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา หรือการเรียนโดยใช้สื่อทางไกล และมีการจัดติวเตอร์เป็นชุดเคลื่อนที่ไปถึงเด็ก โดยอาจจัดเป็นรูปอาสาสมัครช่วยสอน จากบุคลากรที่มีความรู้และเกษียณแล้ว จะได้ใช้ประโยชน์จากท่าน หรือนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีนักปฏิรูปการศึกษาใดจะทำกัน ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ “ให้เอาโรงเรียนไปให้เด็ก ไม่ใช่วิธีคิดแบบเก่าคือเอาเด็กไปโรงเรียน”
2.นักปฏิรูปการศึกษา ยึดความต้องการของรัฐเป็นตัวตั้ง ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ส่วน คือ คุณภาพตามมาตรฐาน ได้กำลังคนตามความต้องการทางเศรษฐกิจ มีสถิติที่ผู้จบการศึกษาได้งานทำเพิ่มเป็นนัยสำคัญ มีสัดส่วนของผู้เรียนสาขาต่างๆเหมาะกับความต้องการของประเทศ และสุดท้ายคือคุณภาพของวัยแรงงานเพิ่มขึ้นโดยรวม
ประเด็นที่อาจารย์นิธิตั้งคำถามคือ มาตรฐานเหล่านั้นใช้อะไรเป็นมาตรวัด และเป็นมาตรวัดที่เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ยังมีคำถามสำคัญ คือ ผู้จัดทำแผนรู้ความต้องการของชาติโดยรวมได้อย่างไรใน 20 ปี ถ้ามองในแง่ดีมานด์ ซัพพลาย จะให้มันสอดรับกันได้อย่างไร ในเมื่อมันเกิดวิวัฒนาการอย่างมากในช่วง 20 ปีนี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งในหลายๆส่วนจะเข้ามามีบทบาทแทนคน
ที่สำคัญสุดคือ เราจัดการ การศึกษานี้เพื่อใคร เพื่อตัวนักเรียน นักศึกษา เหมือนที่เคยพูดกันว่า “เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง” หรือจัดการศึกษาเพื่อนักธุรกิจ นายทุน นักอุตสาหกรรม หรือแม้แต่รัฐบาล หรือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน นักศึกษา อย่าลืมว่าความถนัดจัดเจน ของแต่ละคน ไม่เท่า ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่มีความรัก ความชอบในสิ่งนั้นๆจะให้ฝืนเรียนกันไปมันจะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่
อนึ่งตามแผนการศึกษานี้ ต้องการจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพ และงบน้อย แล้วจะทำอย่างไร จะทดแทนอย่างไร เอามาควบรวมกัน จะมีหลักประกันว่าคุณภาพจะเพิ่มไหม และจะเคลื่อนย้ายเด็กไปเรียนที่ไหนอย่างไร แผนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ที่สำคัญหากจะมีการพิจารณาการควบรวมเพื่อสร้างมาตรฐาน ควรจะขยายไปถึงระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการศึกษาในแต่ละระดับ จนถึงอุดมศึกษานั้น มาตรฐานมันลดต่ำลงไปทุกที เงินเป็นปัจจัยสำคัญก็จริง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัย เป็นองค์ประกอบ เช่น คุณภาพของครู วิสัยทัศน์ ของผู้บริหารการศึกษาหลักสูตร และแนวคิด ซึ่งคงไม่ใช่การผลิตที่จะสร้างคนเป็นหุ่นกระป๋องตามแผนการศึกษาจนกำหนดให้มีมาตรฐานและรูปแบบเหมือนๆกันหมด โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อม และตัวนักเรียน-นักศึกษา
ดังนั้นการศึกษาจึงไม่ควรจำกัดอยู่แต่ในสถาบันการศึกษา แต่ต้องอยู่ทั่วไปในชีวิตคน แม้ว่าแผนการศึกษา 20 ปี จะกล่าวถึงสังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ก็แทบไม่ได้พูดถึงการสร้างเครื่องมือ แรงจูงใจ และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ดังกล่าว
3.ยุทธศาสตร์แรกที่แผนการศึกษา 20 ปี มุ่งเน้นคือ การศึกษาเพื่อความมั่นคง โดยเน้นความรัก และการธำรงไว้ซึ่งการรักษาสถาบันหลักแห่งชาติ มีความเป็นพลเมืองที่รู้หน้าที่ และสำนึกต่อสังคมพหุวัฒนธรรม
จึงเกิดประเด็นคำถามว่า ความเป็นพลเมืองนั้นเป็นพลเมืองแบบไหนในระบอบอะไร ระบอบประชาธิปไตย กึ่งประชาธิปไตย หรือเผด็จการ เพราะถ้าเราสร้างคนมาแบบหนึ่ง แต่ผู้ปกครองจะเอาอีกแบบหนึ่งมันก็จะเกิดความขัดแย้งกันใหญ่โต หรือจะเอาแบบสังคมเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย คือ ให้หัวอ่อนเชื่อผู้ปกครอง แต่จะให้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ จะทำได้หรือไม่ ดูไปแล้วคล้ายๆกับที่ระบอบนาซีสร้างยุวชนนาซีทีเดียว
ส่วนเรื่องพหุวัฒนธรรมนั้น เข้าใจกันว่าอย่างไร โดยทั่วไปก็จะไปเน้นที่ชาติพันธุ์เพราะมันจับต้องได้ง่าย แต่วัฒนธรรมหลายอย่างมันก็จะหลอมรวมเหลือแค่เป็นสัญลักษณ์เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ในสังคมสมัยใหม่ วัฒนธรรมจึงอาจหมายถึงวิถีชีวิต ความคิดทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ระบบคุณค่า รสนิยม ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ตามชนชั้น และกลุ่มชน ในทุกวันนี้แค่กระแสความคิดในสื่อสังคมออนไลน์ จะเห็นว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก เช่น กรณีน้องแบมที่ออกมาเปิดโปงเรื่องการโกงเงินที่จ่ายให้คนจน ซึ่งทำให้รัฐเกิดความสูญเสีย และสืบสาวจนข้าราชการผู้ใหญ่ต้องออกจากราชการ ซึ่งทางราชการเห็นว่าน้องแบมเป็นตัวอย่างที่ดี จึงได้ให้เข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบ เพื่อเป็นรางวัลแก่คนทำดี จะได้เป็นแบบอย่างสืบไป ปรากฏว่ามีกระแสโจมตีอย่างรุนแรงหาว่านี่ไม่ใช่แบบอย่างที่ควรทำ เพราะไม่ต้องสอบเข้า เท่ากับเป็นการโกงอย่างหนึ่ง ทั้งๆที่การสอบเข้าก็มิได้เป็นมาตรวัดว่าเราจะได้ข้าราชการที่เป็นคนดีมีคุณธรรมเลย แล้วเราจะยอมรับพหุวัฒนธรรมแบบนี้อย่างไร
4.มีการพูดถึงระบบดิจิทัล ถึงขนาดจะมีการวาง PLAT FORM ขึ้นมาอันหนึ่ง แล้วจะเป็นตัวกลางส่งผ่านความรู้ และข่าวสาร ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แก่ใครก็ได้
อย่างนี้ก็หมายความว่าเราจะมีระบบผูกขาดความรู้ และความคิด ตลอดจนข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เป็นแบบเดียวกัน จนอาจถึงขั้นใช้กระบวนการผลิตซ้ำทางความคิด เพื่อควบคุมชุดความคิด (MIND SET)ว ของคนให้เป็นแบบเดียวกัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง อันจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงอย่างนั้นหรือ
แต่ในโลกความเป็นจริง ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร มันมีความหลากหลาย ทั้งจากแหล่งที่มา วัตถุประสงค์ และเงื่อนไข หลายข้อมูลอาจขัดแย้งกันเอง แล้วจะเชื่อใคร เชื่ออะไร หรือจะต้องเชื่อรัฐบาลอย่างเดียว โดยไม่มีคำถาม แต่เราก็มีข้อมูลทั้งจากภายในและระหว่างประเทศ
อาจารย์นิธิได้ให้ข้อสรุปในส่วนนี้ว่า “ข้อมูลความรู้ไม่ควรมีการผูกขาด เพราะความรู้ไม่มีด้านเดียว แต่มันขึ้นกับเงื่อนไข” ใครจึงจะตั้งตนเป็นผู้วินิจฉัย และมีสมรรถภาพเพียงใด โดยจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขอะไร
ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี จึงเริ่มต้นด้วยความขัดแย้งในกระบวนการ วิธีคิด และเป้าหมาย กล่าวคือ จะสร้างคนให้อยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ตามบริบทของความมั่นคง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นความมั่นคงของรัฐ หรือของรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้คนในสังคมมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และหลากหลาย
ถ้าจะเอาอย่างนั้นก็สร้างปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนแล้ว ความเป็นตัวของตัวเองจะเป็นลักษณะเด่นที่จะนำไปสู่ความคิดความสร้างสรรค์ พัฒนาสังคม ไม่ใช่สังคมของการล้างสมองจนมนุษย์กลายเป็นหุ่นกระป๋อง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ