งดงาม ทรงคุณค่า ลึกซึ้ง มีความหมาย เชื่อมโยง ร้อยเรียงองค์ประกอบ ความเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กับเบื้องหลัง ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเฉลิมฉลองโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของจุฬาฯ
ผศ.พงศกร ยิ้มสวัสดิ์ และผศ.นภัส ขวัญเมือง สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณสระน้ำจุฬาฯ เผยว่า ซุ้มเฉลิมพระเกียรตินี้เป็นสัญลักษณ์อันเป็นรูปธรรม ซึ่งทางจุฬาฯได้จัดสร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยนำเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมที่สำคัญซึ่งตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของมหาวิทยาลัย คือ หอประชุมจุฬาฯ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ และอาคารมหาวชิราวุธ เป็นแนวคิดหลัก
ผศ.พงศกรอธิบายว่า “ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเปรียบได้กับแบบจำลองของหอประชุมจุฬาฯ ลักษณะซุ้มจะคล้ายกับเคลื่อนเอามุขด้านหน้าของหอประชุมจุฬาฯ ยื่นออกมา มีหลังคาของหอประชุมและหมู่อาคารเทวาลัยซ้อนเป็นพื้นหลัง แม้จะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่บดบังหอประชุม แต่ได้หยิบยืมรูปแบบและบรรยากาศจากหอประชุมด้านหลังมาใช้ออกแบบซุ้ม ใช้ประเด็นเรื่องขนาดสัดส่วนนำไปจนถึงบรรยากาศประดับตกแต่ง เชื่อมโยงของที่อยู่คนละระนาบเข้าด้วยกัน
กรอบพระบรมฉายาลักษณ์แลดูคล้ายกับมีหอประชุมเป็นฉากหลัง เปรียบได้กับพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลที่มีอาคารหอประชุมเป็นฉากหลัง พื้นที่ตรงกลางของซุ้มฯเป็นการนำเส้นโค้งที่เป็นกรอบของมุขด้านหน้าของหอประชุมจุฬาฯ ที่มีสัญลักษณ์พระเกี้ยว มาใช้เป็นกรอบประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ลวดลายต่างๆ ได้แนวคิดมาจากกรอบลวดลายท่อนพวงมาลัยของเวทีหอประชุมจุฬาฯ
ด้านล่างเป็นตัวอักษร “ทรงพระเจริญ” ส่วนปีกทั้งสองข้างของซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เปรียบได้กับปีกด้านข้างของหอประชุมจุฬาฯ ที่ต่อเป็นเฉลียงออกมา ด้านบนเป็นพนัก ประดับด้วยเสาโคมดวงประทีปลดหลั่นลงมา ด้านล่างสุดเป็นพนักลูกกรงซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบได้ทั้งที่หอประชุมจุฬาฯ และหมู่อาคารเทวาลัย”
โครงสร้างของซุ้มเป็นเหล็กที่มั่นคงแข็งแรง รูปลักษณ์ภายนอกใช้วัสดุสังเคราะห์แทนไม้อัด มีการเขียนลวดลายต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ และใช้เครื่องเลเซอร์ยิงเป็นลวดลาย สีที่ใช้สอดคล้องกับหอประชุมจุฬาฯ เน้นกรอบพระบรมฉายาลักษณ์เป็นสีทอง แสดงถึงความเรียบง่ายสง่างาม
“การออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ มีเรื่องราวทรงคุณค่าที่แทรกอยู่ในประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจของจุฬาฯ ซุ้มเฉลิมพระเกียรตินี้สามารถนำมาปรับใช้ในโอกาสต่าง ๆ ได้” ผศ.พงศกร กล่าว
ด้านการออกแบบตัวอักษร ผศ.นภัสเผยว่า ตัวอักษร “ทรงพระเจริญ” ออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์จุฬาฯ โดยพัฒนาจากสัดส่วน ความกว้างและความสูงของช่องระหว่างเสามุขหน้าอาคารหอประชุม ส่วนความกว้างของตัวอักษรได้มาจากความกว้างของเสามุขนั้นเช่นกัน นอกจากนี้ ส่วนโค้งต่างๆ ก็พัฒนามาจากส่วนโค้งของรวยระกา การขมวดหัวของตัวอักษรก็ประดิษฐ์จากวิธีขมวดของลวดลายอาคารหอประชุมจุฬาฯ
“ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเมื่อผมเป็นนิสิตสาขาสถาปัตยกรรมไทยรุ่นแรก รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี และอ.เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมไทย (ปัจจุบันทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ) ได้ให้โจทย์แก่นิสิตในการออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติในโอกาสงานเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อติดตั้งบริเวณหน้าสระน้ำจุฬาฯ
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผมไม่นึกว่าจะมีโอกาสได้ออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติอีกครั้ง เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ใช้วิชาความรู้ในการทำงานตอบแทนสถาบันที่ได้ร่ำเรียนมา” ผศ.นภัส กล่าว
นอกจากนั้น ยังเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน อาจารย์ได้นำประสบการณ์ทำงานจริงให้กับมหาวิทยาลัยมาให้คำแนะนำในการวิจารณ์งานของนิสิตสถาปัตยกรรมไทยด้วย เพื่อนำประสบการณ์นี้ไปใช้ประกอบวิชาชีพจริง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ