เน้นย้ำการผลิตกำลังคนสอดรับไทยแลนด์ 4.0
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย และพัฒนาการศึกษาหรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 เรียบร้อยแล้ว พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) จัดทำรายละเอียดในแผนเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลความต้องการกำลังคน ในระยะ 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะช่วง 5 ปีแรก ที่เน้นการรองรับความเปลี่ยนแปลงฐานการผลิต 10 ด้านของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S Curve) รวมทั้งแผนดูแลการศึกษาครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดย สกศ.จะเร่งสรุปรายละเอียดนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ภายในสัปดาห์หน้า
ดร.กมล กล่าวต่อว่า เมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแผนแล้ว สกศ.พร้อมที่จะขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ทันที โดยนายกฯ ได้มอบให้ประสานทุกหน่วยงานทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาชาติ ระยะ 15 ปี ให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 เดือน ซึ่ง สกศ.จะกำหนดปฏิทินขับเคลื่อนภารกิจ 1.เผยแพร่เนื้อหาของแผนถ่ายทอดสู่หน่วยงานด้านการศึกษาและสาธารณชน และ 2. ผลักดันการออกกฎหมายด้านการศึกษา นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการบูรณาการทั้งระบบให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติราชการที่สอดคล้อง กับแผนเร่งรายงานต่อนายกฯ พิจารณาสั่งการเชิงนโยบายต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของแผนการศึกษาชาติ ระยะ 15 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบจากซูเปอร์บอร์ดการศึกษา โดยสรุปคือ วิสัยทัศน์คนไทยทุกคนได้รับการศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 จุดมุ่งหมาย 3 ประการ ประกอบด้วย
1.คนไทยเป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี และยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 กับ
2.สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
และ 3. ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง
โดยขับเคลื่อนภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตร การเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล 2.การยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา 3.การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมรองรับความต้องการของตลาดงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 4.การพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิตอล 5.การพัฒนาคุณภาพของคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 6.การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน และ 7.การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษา
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ