ชี้เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่ปรัชญาทางเศรษฐกิจ แต่ลึกซึ้งครอบคลุมการบริหารชีวิต บริหารองค์กร ไปจนถึงบริหารประเทศชาติ
ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ซึ่งเป็นใจความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ 3 ห่วง ประกอบด้วย 1.มีความพอประมาณ 2.มีเหตุผล และ 3.มีภูมิคุ้มกัน ส่วน 2 เงื่อนไข ได้แก่ความรู้และคุณธรรม
ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นเพียงปรัชญาทางเศรษฐกิจหรือการดำรงชีวิตเท่านั้น แท้จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงวิถีแห่งการดำเนินชีวิตนั่นเอง ถือเป็นศาสตร์แห่งการบริหารโดยตรง เป็นศาสตร์สามัญแต่ลึกซึ้งยิ่ง ครอบคลุมทั้งบริหารตน บริหารคน บริหารครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น บริหารองค์กร กระทั่งประเทศชาติ สามารถใช้ได้ทุกเมื่อและทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อความอยู่รอดและรุ่งโรจน์ของบุคคล ชุมชน หรือองค์กรนั้น ๆ ที่รู้จักนำปรัชญานี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสม
“ผมเชื่อมั่นว่าชาวราชภัฏสุราษฎร์ทุกคน ต้องการจะสร้างมหาวิทยาลัยแห่งแผ่นดิน คือ การบริหารมหาวิทยาลัยอย่างมีส่วนร่วม เพื่อประชาชนโดยรวมเป็นที่ตั้ง ภายใต้ธรรมในการบริหาร ด้วยแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันต่อความล้มเหลว ผิดพลาด ภายใต้องค์ความรู้ และคุณธรรมที่เหมาะสม การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัย จึงเป็นแนวทางสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน ที่จะอยู่รอดในสังคมอย่างเหมาะสม ภายใต้ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันบนฐานของความรู้และคุณธรรม”ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ