วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2566 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA) เปิดเวที Thailand Competitiveness Conference 2023 ภายใต้หัวข้อ Building Future-Proof Nation ดึงภาครัฐ เอกชนรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ นำสู่การประสานความร่วมมือให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้ไกลกว่าเดิม
ในวันที่สองของงาน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) บรรยายเรื่อง Building a Foundation for Exponential Growth”
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การแข่งขันในโลกต่อไปคือ long game เกมยาว เป็นการวิ่งมาราธอน ประเทศไทยต้องดูประเทศเพื่อนบ้าน หาแรงกระตุ้นจากเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนาม และขอให้ภาพว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างรากฐานการเติบโตแบบต่อเนื่องแบบ Exponential Growth เป็น Future-Proof Nation ได้หรือไม่
การเติบโตของประเทศไทย 3 ทศวรรษ ไทยเติบโตลดลง ตั้งแต่ปี 1960 ประเทศไทยโตเฉลี่ยในทศวรรษนั้น 4.6% หลังจากนั้นอยู่ในระดับเท่าเดิมคือ 4.8% มาเป็น 5% แล้วค่อยๆลดลง หลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่งจริงๆแล้วหาได้ยากมากที่จะมีเศรษฐกิจประเทศไหนจะเติบโตในเวลาแบบนี้ ประเทศไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งของ Asian Miracle
หลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียการเติบโตของไทยลดลงเหนือ 3% มาจนถึงทศวรรษก่อนหน้านี้เหลือ 3.4% และตอนนี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็คาดว่าจะโต 2.8% แค่โต 2.8% รัฐบาลก็บอกว่า “ใครบอกว่าไม่วิกฤติจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจกัน” ก็เป็นประเด็นที่อยากจะชวนคิด
หัวข้อสำคัญ ก็คือ…
“เศรษฐกิจไทยตอนนี้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพหรือศักยภาพของไทยโตต่ำลง” ซึ่งถ้าตีโจทย์นี้ไม่ถูก ตีโจทย์นี้ไม่แตก ก็ยากที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่องไปได้”
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ปกติในทางเศรษฐศาสตร์จะมีความเชื่อว่า แต่ละประเทศจะมีศักยภาพในการเติบโตมากหรือน้อย ศักยภาพจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย แต่ก็พอประมาณการออกมาได้ หากช่วงไหนเศรษฐกิจเติบโตกว่าศักยภาพ ก็จะเรียกว่า “เศรษฐกิจร้อนแรง” ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อ เกิดปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ ถ้าร้อนแรงนานเกินไป แต่หากช่วงไหนเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ก็จะมีปัญหา เกิดปัญหาการว่างงาน ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้รับการยกระดับขึ้นมาได้ทัน
“สองเรื่องนี้ต้องแยกกันให้ออกว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สิ่งที่เราต้องใช้ในแง่นโยบายด้านอุปสงค์ การกระตุ้นอุปสงค์ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพต่ำ แล้วต่ำลงไปเรื่อยๆในลักษณะเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะต้องสนใจนโยบายในด้านอุปทาน นโยบายด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ สองเรื่องนี้จะไม่เหมือนกันเลย” ดร.สมเกียรติกล่าว
ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพวกนี้ ก็จะเสนอชุดความคิดคนละชุดกัน หากเศรษฐกิจของไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพในช่วงระยะสั้น ก็จะยึดถือ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษเป็นต้นแบบว่า คงจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ คือสนใจด้านอุปสงค์ ซึ่งอุปสงค์ของประเทศมีหลายแง่มุม
ตั้งแต่สูตร GDP คือ C+I+G+(X-M) กระตุ้นการบริโภค คือ C กระตุ้นส่งออก X ให้ได้ นำเข้า M ให้น้อยลง กระตุ้นการลงทุน I และกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ G
ในช่วงที่เศรษฐกิจที่โตต่ำกว่าศักยภาพ สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ การเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นได้เช่นเดิม ซึ่งก็ควรทำในช่วงเศรษฐกิจมีภาวะถดถอย
แต่หากจะมองเศรษฐกิจยาวๆ ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องได้ต่อเนื่องหรือไม่ ก็ต้องยึดตามนักเศรษฐศาสตร์อีกราย คือ โรเบิร์ต โซโลว์(นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 1987 ผู้ศึกษาเรื่องผลิตภาพกับการเติบโต) หากเศรษฐกิจมีศักยภาพต่ำ สิ่งที่ควรสนใจคือ ด้านอุปทาน คือ ด้านการผลิต สนใจด้านการผลิตจริง(real sector) สนใจเกษตร สนใจอุตสาหกรรม สนใจบริการ สนใจภาคการเงินที่หล่อเลี่ยงภาคเหล่านี้ ว่า “ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตมีศักยภาพสูงขึ้นได้ และจะต้องวางรากฐานการเติบโตด้วยตัวเลขตัวเดียวที่สำคัญสุด คือ ผลิตภาพ productivity”
เพราะฉะนั้นมุมมองที่จะต้องวินิจฉัยว่า เศรษฐกิจไทยทุกวันนี้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพหรือศักยภาพของไทยต่ำ ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะมีผลต่อนโยบายที่จะใช้ ที่จะออกมา
เศรษฐกิจไทยมีไว้เพื่อกระตุ้น
ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า ถ้าดูประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงหลังๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยโตลดลง จะพบรูปแบบ(pattern) ที่ออกมาชัดเจนไม่ใช่ แพทเทิร์น วิ่งมาราธอน แต่คือ “แพทเทิร์นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
“การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลปัจุบัน แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องพอสมควร ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ ก็กระตุ้นด้วยคนละครึ่ง มีของขวัญปีใหม่แจกทุกปี พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบันก็เกิดการแจกเงินครั้งใหญ่ด้วยเงินดิจิทัล มีการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี อนุมัติลดค่าน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือประชาชน และมีการแจกแท็บเล็ต”
ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ถ้าดูวิธีคิดของรัฐบาลไทยในช่วงหลังจะเห็นว่า มีแพทเทิร์นว่า รัฐบาลมองไว้ว่า “เศรษฐกิจไทยมีไว้เพื่อกระตุ้น” คือ “ยึดเศรษฐกิจระยะสั้นชัด” ยึดตำราเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่มีรัฐบาลไหนพูดถึง การมองยาวๆที่มีความจำเป็นเพื่อการมี future proof
การมองเศรษฐกิจสั้นเศรษฐกิจยาวจะแตกต่างกัน ดร.สมเกียรติได้ยกตัวอย่างการมองสั้นว่ามองอย่างไร และมองยาวมองอย่างไร โดยกล่าวว่า ทุกรัฐบาลที่เข้ามา เมื่อนักวิชาการ ภาคเอกชนถูกเชิญไปให้คำปรึกษารัฐบาล หรือรัฐบาลเรียกข้าราชการมาถาม คำถามแรกๆที่ได้ยินคือ “อะไรคือวิกฤติ สำหรับเศรษฐกิจไทย” “อะไรคือสิ่งที่ทำได้ไว” รัฐบาลไม่ถามว่า “อะไรที่จะสร้างรากฐานประเทศได้”
วิกฤติคืออะไร คือ แจกเงิน วิกฤติคือ ลดราคาดีเซล วิกฤติ คือ การพักหนี้เกษตร วิกฤติ คือ การแจกแท็บเล็ต ลด แลก แจก แถม แต่ถ้าเป็นการสร้างรากฐานเศรษฐกิจ foundation building ต้องมองยาว ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ แล้วโลกจะเปลี่ยนไป มีความท้าทายมากมาย ต้องผลิตคาร์บอนต่ำ
การลดราคาดีเซลอาจจะเป็นวิกฤติสำหรับรัฐบาลในทางการเมือง แต่สวนทางกับการที่เศรษฐกิจไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะฉะนั้นนโยบาย quick win หลายครั้งจะสวนทางกับนโยบาที่ต้องสร้างรากฐานในระยะยาว
ระยะสั้น มีนโยบาย quick win ได้ แต่หากนโยบาย quick win ขัดแย้ง ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านในระยะยาวแล้วทำ quick win ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไทยก็จะเดินไปทางตรงข้ามกับสิ่งควรทำในระยะยาว
การพักหนี้เกษตรกร ก็เป็นการช่วยเกษตรกร แต่หากเกษตรกรปรับตัวได้ ก็เป็นเรื่องดี แต่หากพักหนี้เกษตรกรต่อเนื่องหลายๆครั้ง ถ้ามีเหตุให้พักหนี้ เนื่องจากเกิดฝนแล้ง เกิดน้ำทวมอย่างที่เคยทำมาในอดีต ก็มีคำอธิบายได้ แต่หากพักหนี้เกษตรกร โดยไม่ได้มีเหตุว่า ทำไมต้องพัก แม้เกษตรกรที่ชำระหนี้ได้ดีอยู่แล้ว พักหนี้ด้วย ก็จะคงเกิดปัญหาตามมา และสวนทางกับการไปสู่ future proof เพราะในอนาคต เมื่อภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป เกิดน้ำท่วมใหญ่ ไฟป่าแรง แห้งแล้งจัด วิบัติโลกร้อน การทำมาหากินในภาคเกษตรจะยากขึ้น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส จะไปทำไร่ทำนาในที่ร้อนๆ ก็คงจะเสี่ยงต่อชีวิต หรือเจ็บป่วยได้
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า หากยังคงรักษาโครงสร้างเกษตรแบบเดิม ไม่ได้เพิ่มผลิตภาพ แต่แก้ปัญหาระยะสั้น ในขณะที่ระยะยาวโจทย์ที่แท้จริง อาจจะต้องปรับตัวออกจากภาคเกษตร เพระาเกษตรจะเป็นสาขาที่อ่อนไหวที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าตัวอย่างแบบนี้ ระยะสั้น ระยะยาวก็จะขัดแย้งเช่นเดียวกัน
การแจกเท็บเล็ตอาจจะเป็นเรื่องดี แต่หากการแจกเท็บเล็ตไม่ได้นำไปสู่การสร้างทักษะอย่างแท้จริง ถ้าเสริมการสร้างทักษะด้วย ด้วยการพัฒนาเนื้อหา (content) พัฒนาการเรียนการสอนให้ทันสมัย ก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาวได้ เพราะฉะนั้น ต้องมองเศรษฐกิจทั้งสั้นทั้งยาว “มี quick win มีได้ แต่ต้องไม่สวนทางกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว”
สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัลโดยมีความเชื่อกันว่าจะสามารถสร้างเศรษฐกิจได้ใหญ่ขึ้นกับเงินที่ใส่ไป ใส่เงินไป 100 แล้วคิดว่า GDP จะโตได้ 3 เท่า 6 เท่า คือได้ 300 หรือ 600 ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ถ้ามีสูตรพิเศษอย่างนี้ในโลกจริง แต่ละประเทศคงไม่ต้องคิดยุทธศาสตร์การพัฒนา แจกเงินไปเรื่อยๆ ก็คงจะโตไปเรื่อยๆ และถ้าแจก 10,000 บาทก็คงจะโตแบบพรวดขึ้นไป
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ความเป็นจริงก็คือ การศึกษาตัวคูณทางเศรษฐกิจ หรือ fiscal multiplier ในประเทศต่างๆรวมทั้้งประเทศไทย บ่งชี้ว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น โดยในสหรัฐฯ จากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ ใส่เงินเข้าไป 1 หน่วย GDP จะใหญ่ขึ้น ตัวคูณการคลังแกว่งไปมา สุงสุดไม่ถึง 2 ราวเกิน 1.5 เล็กน้อย แต่จะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ แล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น แต่มิฉะนั้นจะเห็นว่า ตัวคูณทางเศรษฐกิจ ในสภาพที่เศรษฐกิจเติบโตได้ปกติ อยู่ในระดับ 0
สำหรับตัวคูณทางเศรษฐกิจของไทย มีการศึกษาจากหลายแหล่ง หนึ่งคือ ข้อมูลจาก สำนักงบประมาณของรัฐสภาได้ว่าจ้างให้มีการศึกษา ว่า เมื่อรัฐบาลใช้จ่ายเงิน 1 หน่วย GDP โตขึ้นจริงหรือไม่ในช่วงที่ผ่านมาหลายๆรัฐบาล ซึ่งพบว่าขึ้นอยู่กับการใช้เงิน หากใช้เงินไปใช้จ่ายโดยตรง ซื้อสินค้า ซื้อบริการต่างๆ ตัวคูณทางเศรษฐกิจ จะอยู่ประมาณ 2 เท่า ภาครัฐมีการจ้างบุคคลากรให้มาทำงานก็เกิดตัวคูณประมาณ 2 เท่าเช่นกัน การแจกคนจนตัวคูณทางเศรษฐกิจ จะลดลงมาที่ 1.4 เท่า แจกเงินคนทั่วไปก็จะเหลือไม่ถึง 1 เท่า
ส่วนตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า การแจกเงินคนทั่วไปจะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจ 0.4 เท่า เท่านั้น หมายถึงใส่เงินเข้าไป 1 หน่วยจะได้ GDP โต 0.4 เท่านั้น ไม่ได้มากอย่างที่คาด
แก้ไข ลดกฎระเบียบเพิ่มผลิตภาพ
สำหรับการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ต้องดูว่าอะไรที่จะทำให้ด้านอุปทานทำงานได้ดีขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วตัวแปรด้านอุปทานหรือ supply ตัวแปรใหญ่ คือ “การลงทุน” หรือผู้ประกอบการ ทำอย่างไรให้แรงงานมีผลิตภาพมากขึ้น และทำอย่างไรให้การลงทุนกับแรงงานผสมกัน เพื่อให้มีผลิตภาพมากขึ้นไปอีก ให้เกิด Total Factor Productivity ผลิตภาพโดยรวมเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
ตำราเศรษฐศาสตร์ในสายโรเบิร์ต โซโลว์ บอกไว้ชัดเจนว่า ถ้าจะทำให้เกิดการลงทุน และแรงงานเกิดประโยชน์สูงสุด เกิด productivity สูงสุด ข้อหนึ่งก็คือ การลดการบิดเบือนกลไกตลาด ด้วยการลดกฎระเบียบต่างๆ กฎหมาย ที่จะต้องจัดการให้ทันสมัยมากขึ้น และอาจจะเติบโตในขั้นตอนต่อไป ขยาย frontier ในการให้เศรษฐกิจโตขึ้น ก็มาเร่งการรับนวัตกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต่อประเทศ และโตขึ้นไปอีกระดับก็ต้องสร้างนวัตกรรม
การเร่งรับนวัตกรรมให้เกิดเร็วขึ้น ทำได้โดยการสร้างทักษะพื้นฐานของแรงงาน และหากจะสร้างนวัตกรรมก็ต้องมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แม้หลายรัฐบาลเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายเรื่อง ซึ่งมีการแก้ไขบ้าง แต่ดำเนินการได้ช้า โดยยกตัวอย่างผลสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นของ JETRO ก็พบปัญหาซ้ำๆเดิมที่บริษัทญี่ปุ่นระบุให้รัฐบาลไทยแก้ไข ได้แก่ 1) พิธีการศุลกากร ที่ยังมีความล่าช้า ความไม่โปร่งใส 2) การคิดภาษีเงินได้ ซึ่งต่อไปจะซับซ้อนมากขึ้น 3) กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4) ใบอนุญาตทำงาน
“กฎระเบียบเรื่องการคุมคนต่างชาติของไทย ทำให้เราไม่สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถได้ดีเท่าที่ควร” ดร.สมเกียรติกล่าว โดยยกตัวอย่างว่า เจ้าของบ้านที่มีคนต่างด้าวมาพักต้องแจงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกครั้งในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในยุคสงครามเย็นแต่ยังหลงเหลืออยู่
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมหลายเรื่อง เช่น การคุมธุรกิจคลังสินค้า ที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งสถานที่ ทั้งขนาด ความจุ ประเภทของสินค้าที่เก็บ ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะสินค้าในคลังสินค้าเข้าออกทุกวัน ซึ่งเป็นข้อบังคับของพระราชบัญญัติคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น พ.ศ. 2558 “ที่น่าตกใจคือไม่ใช่กฎหมายเก่า แต่ออกมาในปี 2558”
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็ต้องแจ้งสินค้าทุกรายการตามกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง ทางปฏิบัติก็ทำไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการซื้อขายกันปริมาณมากและมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก
ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ธุรกิจข้าวของประเทศไทยยังอยู่ในยุคของก่อนเปลี่ยนศตวรรษ 2489 ในยุคข้าวยากหมากแพง และต้องควบคุมไม่ให้คนไทยอดอยาก เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร “แต่ทุกวันนี้ไทยเจออีกโจทย์หนึ่งคือ สูญเสียความสามารถในการส่งออกข้าว เพราะต้องแข่งส่งออกข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม เป็นต้น” แล้วพบว่า ยอดขายไทยตกลง
ธุรกิจข้าวก็ยังถูกควบคุม เช่น ปริมาณ และสถานที่เกี่ยวข้าว ก็ต้องรายงาน การเคลื่อนย้ายข้าวก็ต้องรายงาน ผู้ที่จะส่งออกข้าวก็ต้องมีปริมาณสำรอง มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคจำนวนมาก
“หากประเทศไทยอยากจะเพิ่มศักยภาพในการเติบโต อยากจะก้าวกระโดด สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือ การลดกฎระเบียบที่เป็นปัญหา หรือ การทำ Regulatory Guillotine กิโยตินกฎหมาย ซึ่งก็ยินดีที่ได้ยินว่าเป็นหนึ่งวาระของรัฐบาลใหม่ เพราะเรื่องนี้จะช่วยประเทศไทยปลดล็อคเกิดศักยภาพได้สูงสุด”
การศึกษาของธปท.ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า แค่ทำเรื่องเดียว ลดต้นทุนภาครัฐลดต้นทุนภาคเอกชนได้ปีละ 1.8 พันล้านบาท โดยเป็นการทำกิโยตินเฉพาะส่วนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ส่วนสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ทำกิโยตินในปี 2563 ใน 15 กระบวนการ ลดต้นทุนได้ปีละ 153 ล้านบาท ลดแรงงาน 4.8 หมื่นชั่วโมงต่อปี และลดกระดาษ 1.6 ล้านแผ่นต่อปี
การทำกิโยตินได้ยกระดับความง่ายในการทำธุรกิจของไทย( Ease of Doing Business) จากอันดับ 26 ในปี 2560 มาที่อันดับ 21 ในปี 2563
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า เป็นตัวอย่างว่า ไทยทำได้สำเร็จ ซึ่งควรขยายต่อไป และมีการศึกษาว่า หากมีการทำกิโยติน 1,094 ของกระบวนการอนุญาต 198 เรื่อง ซึ่งเสนอแก้ไข 43% และเสนอเลิก 39% ก็จะลดต้นทุนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้เศรษฐกิจโตได้ 0.8% ต่อปี
“จะเห็นได้ว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เงิน และเป็นการสร้างรากฐานการเติบโตระยะยาวได้ด้วย ประชาชนได้ประโยชน์ รัฐได้ประโยชน์”
ปรับระบบการศึกษา ยกทักษะแรงงาน
ดร.สมเกียรติกล่าวถึง การยกระดับทักษะแรงงาน ว่า มีการศึกษาที่อาจจะชี้ว่าคนไทยไม่ future proof (ความสามารถที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต) กับโลกที่จะเปลี่ยนไป เพราะระบบการศึกษายังไม่เพิ่มทักษะให้คนได้มาก โดยผลสำรวจพบว่า คนขับไรเดอร์ 56% จบการศึกษาระดับมัธยม จบปริญญาตรี 24% การที่คนจบปริญญาตรีมาเป็นไรเดอร์บอกอะไรบางอย่าง สิ่งที่น่าสนใจคือรายได้ของไรเดอร์เกินกว่า 15,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่รัฐบาลถือเป็นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปริญญาตรี มีสัดส่วนสูงถึง 42% หมายความว่า แทนที่จะไปทำงานที่ควรทักษะปริญญาตรี การไปขับไรเดอร์ได้ค่าจ้างดีกว่า และหมายความว่า การฝึกทักษะจากมหาวิทยาลัยไม่มีผลิตภาพเพียงพอหรือไม่
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า เมื่อย้อนไปดูก็พบปัญหาที่ใหญ่และควรจะแก้ ที่ต้องใช้เวลานาน จัดว่าเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่ใน 5 ปีแต่เป็น 10-20 ปี ก็คือ “คุณภาพการศึกษาพื้นฐานของไทย อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ” เห็นได้จากผลสอบ PISA จากการจัดสอบเด็กอายุ 15 ปี ที่ว่า นักเรียนไทยในสัดส่วนประมาณ 40% มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ในระดับไม่สามารถใช้งานได้ หรือ functionally illiterate ไม่ได้หมายความว่าจำข้อเท็จจริงด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่ประยุกต์ใช้ไม่ได้เลย
ส่วนในด้านการอ่านสูงถึง 50% หมายความว่าเด็กไทยอายุ 15 ปี เห็นข้อความเป็นพารากราฟ อ่านออกเสียงได้ แต่สรุปจับใจความไม่ได้ แลมองแนวดน้มในระยะยาวจะเห็นว่าความสามารถในการอ่านของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 2 ปีที่ผ่านมาสำนักงานสพฐ.ก็จัดสอบการอ่านของเด็กไทย ซึ่งได้ผลที่คล้ายกันคือ เด็กไม่สามารถอ่าน จับใจความเรื่องง่ายๆได้ และไม่สามารถย่อความได้
“นี่คือความท้าทายอย่างยิ่งว่าเรา จะไปต่อกันอย่างไร”
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกับโลกที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน(globalized)อย่างมาก คือ การที่สามารถสื่อสารกับประชาคมโลกได้ ก็พบว่า คนไทยไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ โดยคะแนนภาษาอังกฤษของไทยอยูที่อันดับ 100 ใน 112 ประเทศ เป็นรองบ๊วยอันดับ 3 ในเอเชียและอยู่อันดับสุดท้ายในอาเซียน และคนในกรุงเทพก็ไม่ได้คะแนนดีกว่าคนต่างจังหวัดนัก
“อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตใหม่ แต่การเติบโตของไทยต่ำกว่าอาเซียนโดยรวม ซึ่งอาจจะเป็นทักษะของคนไทยที่อาจจะไม่พร้อมกับการทำงานทักษะสูงในภูมิภาค ประเทศไทยค้าขายกับต่างประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ภาษาอังกฤษไม่ได้ นี่คือโจทย์ทักษะซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้อง ทำเป็นโจทย์ที่ต้องใช้เวลาและต่อเนื่อง เพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาการศึกษาไทย” ดร.สมเกียรติกล่าว
อย่างแรก การศึกษาไทยต้องปรับหลักสูตรใหม่ภายใน 3 ปี หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานใช้กันมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นเวลา 15 ปีแล้ว เรียนเป็นรายวิชา ไม่ได้เป็นหบักสูตรที่เน้น “สมรรถนะ” competency ประเทศไทยครนำหลักสูตรสมรรถนะมาใช้โดยเร็วภายใน 3 ปี
อย่างที่สอง แยก“การอ่าน” ออกจากภาษาไทย ส่วนหนึ่งเด็กอ่านไม่ออกจริง แต่อีกส่วนมาจากการเน้นไปที่ตัวสะกด การอ่านจึงถูกจำกัดจากวิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นคนละส่วน ถูกวิธีคิดของวิชาภาษาไทยครอบงำ ไมได้สนใจสมรรถนะอย่างแท้จริง
แต่การนำหลักสูตรใหม่มาใช้จะไม่ได้ผลหากไม่ปลดภาระงานของครู ซึ่งเป็นการปลดล็อควิธีหนึ่ง ครูไทยไปโรงเรียนแต่ไม่ได้อยู้ในห้องเรียน เพราะต้องทำงานด้านเอกสาร เสียเวลาไปเยอะมาก ต้องคืนเวลาให้ครู ฝึกอบรมครูได้มีทักษะใหม่
นอกจากนี้สร้างทักษะต่อเนื่อง หากทักษะในมหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างทักษะให้เกิดการเรียนรู้ได้จริง ทำให้เกิดรายได้สูง เช่น ยกตัวอย่างไต้หวัน ที่มีหลักสูตร AI และ IoT ใช้เวลาเรียน 6 โดยใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรม ใช้ข้อมูลจริง ใช้วิธีแก้ปัญหาจริง ผู้ที่จบหลักสูตรสั้นๆ เงินเดือนเพิ่มขึ้น 20-30%
“วิธีแบบนี้หากรัฐบาลสนับสนุนให้มีคอร์ส เชื่อมโยงกับผลการเพิ่มสมรรถนะของนักเรียนได้ ก็จะทำให้ไทยมีแรงงานทักษะในหลายด้าน”
ดร.สมเกียรติกล่าว ถ้าไทยจะเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องลงทุนทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น ไทยลงทุนด้านนี้น้อยมาก แม้เพิ่มการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ก็สูงจาก 1% ของ GDP ขึ้นมาไม่มาก แต่หากมองที่เกาหลีใต้ 60 ปีที่แล้วมีรายได้ต่อหัวสูงกว่า กานา แต่ตอนนี้ถือเป็นประเทศรายได้สูงแล้ว เพราะลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในระดับ 4-5% ของ GDP ต่อเนื่องนาน
เร่งพัฒนาพลังงานสีเขียวเพิ่มความสามารถแข่งขัน
นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญกับกาปรรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งความสามารถในการแข่งขันในระยะต่อไป ต้องอิงกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผลิตสีเขียว ซึ่งไทยก็เป็นประเทศที่เปลี่ยนไปสู่ green สูงประเทศหนึ่งในโลกได้ จาก 3 องค์ประกอบคือ มีวัตถุดิบสีเขียว มีพลังงานสีเขียว คือพลังงานหมุนเวียน และมีกระบวนการเขียว
บริษัทไทยขนาดใหญ่สามารถผลิตวัตถุดิบสีเขียวได้ เพราะอุตสาหกรรมต้นน้ำมีบริษัทที่ผลิตให้กับ เหล็ก ซีเมนต์ ปิโตเคมี กระดาษ ซึ่งบริษัทใหญ่เหล่านี้ถูกกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้ว ส่วนพลังงานสีเขียว กำลังจะเป็นโจทย์ใหญ่ของไทย เพราะเริ่มมีการเรียกร้องให้ไทยจ่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 100% แต่ไฟฟ้าสีเขียวในไทยยังสัดส่วนไม่สูง ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 14% ไฟฟ้าพลังน้ำ 4% ไฟฟ้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน14%
แต่การเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานสะอาดนี้ยังเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เปิดเสรีพลังงานให้ซื้อขายไฟโดยตรงได้ และหากไม่ทำ สาขาพลังงานจะเป็นสาขาที่ฉุดประเทศไทยให้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero)ในปี 2065 ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ช้ากว่า 70-80 ประเทศในโลก ประเทศส่วนใหญ่มีเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
“จะเห็นว่าถ้าเราจะดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ประเทศเวียดนามมีเป้าหมายในปี 2050 แค่นี้เราก็จะแข่งขันได้ยาก สาขาพลังงานคือสาขาที่ต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่”
ส่วนการผลิตสีเขียว เมื่อมีพลังงานสีเขียว วัตถุดิบสีเขียว อยู่ในสถานประกอบการซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานพอสมควร ก็ทำให้ประเทศไทยผลิตสีเขียวได้ ลดการสูญเสีย ไม่ผลิตเกิน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“ประเทศไทยถ้าจะปรับตัวสู่ยุค future proof ให้เติบโตแบบ exponential ได้ อย่างแรก คือ เลิกมองสั้น เลิกฝันแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเติบโตต่อเนื่องก็ต้องคิดเรื่องสร้างรากฐาน ลดกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรค ลดการบิดเบือนกลไกตลาด สร้างโครร้างพื้นฐาน เร่งรับนวัตกรรม และเริ่มการสร้างนวัตกรรมเอง” ดร.สมเกียรติกล่าว