ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้บูรณาการประสานการจัดการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงการศึกษาในทุกมิติ โดยในระยะที่ 1 เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงนามความร่วมมือข้อตกลงในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา และเดือนมิ.ย.ได้สร้างการรับรู้ เพื่อเชื่อมโยงสะพานการศึกษาถึงพื้นที่ในระดับจังหวัด คืออาชีวศึกษาจังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษา ของทั้ง 2 หน่วยงาน ในแนวทางที่จะผลักดัน และสร้างสะพานต่อ 5 สาย โดยผลักดันการเรียนอาชีวศึกษาเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ การก้าสู่การเรียนสายวิชาชีพ ไม่ใช่เพียงแต่การเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนในเชิงทักษะปฏิบัติควบคู่กันไป และไม่ได้เรียนแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนที่ก้าวไปถึงมาตรฐานสากล เรียนในสาขาวิชาชีพแห่งอนาคต ที่เป็นความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยปีการศึกษา 2562 สอศ.มีนักศึกษาที่ไปฝึกงานระยะยาว 1 ปี และฝึกประสบการณ์วิชาชีพระยะสั้น 3 เดือน หรือ 6 เดือน รวม 398 คน ใน 10 ประเทศทั้งในเอเชีย และยุโรป ซึ่งมีนักศึกษาอาชีวะไทย ให้ความสนใจ เดินทางไปเรียนอย่างต่อเนื่อง ในสาขาวิชาระบบราง สาขาไฟฟ้า สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาโลจิสติกส์ สาขาก่อสร้างและโยธา สถาปัตยกรรม
เลขาฯสอศ.กล่าวว่า ทั้งสอศ. และสพฐ. จะต้องร่วมกันพัฒนาให้ผู้เรียนมีความพร้อมตามคุณลักษณะของบุคคลที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องรอบรู้เรื่องภาษา มีทักษะวิชาชีพ ใสใจสิ่งแวดล้อม มีทักษะการคิดและการแก้ไขปัญหา ทั้งได้วางเป้าหมายต่อไปว่าจะส่งนักเรียน นักศึกษา ไปฝึกประสบการณ์ต่างประเทศ ใน 10 สาขาวิชา ได้แก่ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ อากาศยาน เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ คหกรรม อาหารและโภชนาการ การท่องเที่ยว การโรงแรม สัตวศาสตร์ พืชศาสตร์ ประมง สารสนเทศ และดิจทัล สาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และสาขาที่เป็นไปตามนโยบายของประเทศ ซึ่งตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ ประกอบด้วย อิสราเอง เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เดนมาร์ก สิงคโปร์ บูรไน อังกฤษ นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ภายใต้ของตกลงระหว่าง สอศ. กับหน่วยงานของประเทศนั้นๆ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ