ดันแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ราชมงคลพระนคร ชูวิสัยทัศน์ปฏิบัติเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและเป็นที่พึ่งสังคม
รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) กล่าวในงานอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การผลักดันแผนยุทธศาสตร์ มทร.พระนคร ระยะ 15 ปี (RMUTP Retreat) ว่า มทร.พระนคร เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพอย่างยาวนาน และในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีนโยบายสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เพื่อให้เกิดผลสำเร็จจึงได้ปรับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยใหม่เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างชัดเจนภายใต้วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยผู้สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาทักษะการคิดเป็นระบบ ปฏิบัติเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและเป็นที่พึ่งของสังคม” พร้อมวางเป้าหมายความสำเร็จในการพัฒนาแผนกลยุทธ์ ทุกระยะ 5 ปี และเพื่อเป็นการปรับปรุง ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
โดยกำหนดเป้าหมาย ปี 2560-2564 ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ปี 2565-2569 ติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีระดับประเทศ ปี 2570-2574 ติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีระดับอาเซียน
โดยได้วางแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 15 ปี ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานวิจัยและพัฒนา ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการให้บริการวิชาการและพัฒนาอาชีพอย่างมีคุณภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล
“การพัฒนามหาวิทยาลัยแบบก้าวกระโดด จำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้บุคลากร ทั้งคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ องค์กรมหาชน ชุมชน และบริษัทเอกชน เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ และเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัย พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม หากมหาวิทยาลัยมีการพัฒนาอาจารย์ ให้มีความเชี่ยวชาญตามสายวิชาชีพมากขึ้น เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่พัฒนาให้เกิดประโยชน์ และมีการพัฒนาเครือข่ายมากขึ้น จะมีองค์ความรู้และนวัตกรรมจากการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเป็นระบบ”
อธิการบดี มทร.พระนคร กล่าวและว่า ส่วนระบบการพัฒนาเชิงวิชาการนั้น นอกจากการตีพิมพ์ผลงานหรือบทความในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่สามารถนำงานวิจัยไปสู่การจดสิทธิบัตร การใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตร หรือนำผลงานถ่ายทอดความรู้ใหม่สำหรับการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาสามารถทำงานร่วมกับองค์กรที่มีการพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักวิจัยได้พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและระบบบริการ หากประสบผลสำเร็จแล้วจะเป็นงานวิจัยที่นำไปพัฒนา New Business Model, New Products Formula และ New Manufacturing Process ต่อไป
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ