ศธ.หารือทูตจีน ร่วมพัฒนาอาชีวะ เล็งลงทุนจัดตั้งโรงเรียนระบบรางไทย-จีน
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการให้การต้อนรับและหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เรื่องนโยบายการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มีการหารือกับ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนฯ ในการร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทางนายกรัฐมนตรีของประเทศจีน เมื่อ 2เดือนที่ผ่านมา
โดยหลักการเบื้องต้นจะมีการดำเนินการ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การจัดตั้งโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง ในเรื่องของระบบรางไทย-จีน ซึ่งจะเป็นหลักสูตรจีน 100% เป็นการลงทุนร่วมกับไทย ดังนั้น การเรียนการสอน การดำเนินการทุกเรื่อง อย่างประกาศนียบัตรจะเป็นของจีนทั้งหมด ส่วนกระทรวงศึกษาธิการไทย จะไปดูอาชีวะเอกชนที่มีศักยภาพ มีความพร้อมมาร่วมมือในการพัฒนานักศึกษา และ 2.ไทย-จีน จะร่วมมือกันยกระดับหลักสูตรไทยที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 เช่น ระบบราง ท่าอากาศยาน โดยจัดการเรียนการสอนร่วมกันในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทางเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนฯ ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ในการยกระดับการเรียนการสอนอาชีวศึกษา โดยเฉพาะสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ นั่นคือ สาขาระบบราง ซึ่งประเทศจีนพร้อมช่วยยกระดับอย่างเข้มข้น เพราะที่ผ่านมาอาชีวะไทยไม่ได้มีความร่วมมือกับอาชีวะศึกษาระบบรางของจีน ซึ่งมี 4 วิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนระบบรางโดยตรง ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการร่วมมือพัฒนาการเรียนการสอนระบบรางที่ทำให้ได้มาตรฐานนานาชาติ รวมถึงจะมีความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ของสองประเทศ โดยเรื่องระบบราง อยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระบบรางในภูมิภาคอาเซียน เพราะตอนนี้ไทยมีการขยายตัวในระดับเมือง และประเทศเพื่อนบ้าน ลาว พม่า ก็ล้วนต้องการระบบราง จึงต้องดำเนินการเรื่องระบบรางอย่างเร่งด่วน โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 เดือน พ.ค.นี้
“ตอนนี้การเรียนการสอนระบบรางของไทยขาดแคลนกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นช่างเทคนิค หรือวิศวกรระบบราง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการขอใช้หลักสูตร การจัดการเรียนการสอนมาตรฐานเช่นเดียวกับของ จีน โดยช่วงเริ่มต้นได้ขอให้ทางจีน ส่งครูมาช่วยในสอน เพราะขาดแคลนครู รวมถึงเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งการเรียนการสอนจะเป็นรูปแบบทวิภาคี หรือเรียนที่ไทย 1 ปี เรียนที่จีน 1 ปี และได้ปริญญา 2 ใบ รวมถึงเรื่องอุปกรณ์การสอน ซึ่งทางเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนฯ พร้อมให้ความร่วมมือ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ