ราชกิจจานุเบกษาประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 32 คลายล็อก 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มาตรการเข้า-ออกราชอาณาจักร ตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด -19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าศูนย์
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) ลงนามพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนี้ (ดูกราฟิกศบค.ท้ายข่าว)
ข้อ 1 การกำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ จำแนกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (พื้นที่สีแดง 37 จังหวัด) และพื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม 11 จังหวัด) ให้ยังคงบังคับใช้ต่อไป
ข้อ 2 พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน พื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน พื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกรรมการซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน
ข้อ 3 มาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้ในอนาคต โดยเพิ่มความระมันระวังในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตาม “มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล” (Universal Prevention for COVID – 19)
ให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบขององค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบและกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตาม “มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร” (Covid Free setting) โดยให้มีการประเมินผลภายใน 1 เดือน
ข้อ 4 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ การห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น การปฏิบัติงานนอกสถานที่ (work from home) ของส่วนราชการและเอกชนให้ดำเนินการเต็มความสามารถเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564)
ข้อ 5 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่
- 1.โรงเรียน หรือ สถาบันการศึกษาทุกประเภทให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือ การทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้
- 2.ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริหารได้โดยให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านและจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน ห้องปรับอากาศไม่เกิน 50 % ของจำนวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ไม่เกิน 75 % ของจำนวนที่นั่งปกติ และให้บังคับมาตรการนี้กับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
- 3.สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการได้
- 4.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือ สถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดบริการได้เฉพาะการให้บริการนวดเท้า
- 5.ตลาดนัด ให้เปิดได้ตามปกติจนถึง 20.00 น. เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภค
- 6.ห้างสรรสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือ สถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันสามารถเปิดได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 20.00 น.
เว้นแต่กิจการหรือกิจกรรมบางประเภทที่กำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือ ให้ปิดกิจการดำเนินการไว้ก่อน ได้แก่
–ก.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมาย ส่วนร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดบริการได้โดยผ่านการนัดหมายและจัดกัดเวลาให้บริการในร้านไม่เกินรายละ 1 ชั่วโมง
–ข.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือ สถานประกอบการนวดแผนไทยให้เปิดดำเนินการได้โดยผ่านการนัดหมายและจัดกัดเฉพาะการให้บริการนวดเท้า
–ค.สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ตู้เกม เครื่องเล่นเกม ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม ยังคงให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน
- 7.สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬา หรือ กิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ หรือ สระว่ายน้ำสาธารณะ หรือ สถานที่เพื่อออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ที่เป็นพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม
- 8.การเข้าใช้สนามกีฬาทุกประเภทเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติได้ โดยไม่มีผู้ชมในสนาม
ข้อ 6 การใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางข้ามจังหวัดจากเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่นสามารถกระทำได้ แต่ขอความร่วมมือเดินทางเมื่อกรณีมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
ข้อ 7 การขนส่งสาธารณะ จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกิน 75 % ของความจุผู้โดยสารสำหรับยยานพาหนะแต่ละประเภท
ข้อ 8 ในกรณี ศปก.ศบค.ได้ประเมินสถานการณ์ตามข้อกำหนดนี้แล้วเห็นว่า ควรปรับเปลี่ยนหรือขยายความมาตรการในเรื่องใดเพื่อให้เกิดความชัดเจน เหมาะสม สะดวกแก่การปฏิบัติทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
คลอกอ่านประกาศ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/200/T_0001.PDF
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่ คำสั่งศบค. ฉบับที่ 12/2564 เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 13) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนดเพื่อป้องการการแพร่ระบาดของโควิด -19
คลิกอ่านประกาศ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/200/T_0006.PDF
รวมถึงแพร่แพร่ประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 14/2564 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศบค.เพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) เพื่อตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม” โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าศูนย์
คลิกอ่านประกาศ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/200/T_0008.PDF