ประเทศไทยมีการพัฒนาที่พักอาศัยชั่วคราว เพื่อรับรองผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ผุดไอเดียด้านการออกแบบที่พักอาศัย ชูแนวคิด “นวัตกรรมที่พักอาศัยฉุกเฉินสำเร็จรูปถอดประกอบได้” โดย ผศ.ดร.วชิระ แสงรัศมี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประชุม คำพุฒ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันสร้างสรรค์
ผศ.ดร.วชิระ พูดถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจการออกแบบที่พักฉุกเฉินนี้ มาจากบ้านท่อนซุงในอดีตที่นำท่อนไม้มาประกอบเป็นที่พัก โดยเลือกใช้ท่อพีวีซี (PCV) ที่มีรูกลวงตรงกลาง มาทำเป็นแผ่นผนัง (ท่อนไม้เทียม) เพราะจากผลการศึกษาพบว่า คุณสมบัติของท่อพีวีซี สามารถใช้ประกอบเป็นแผ่นผนังที่มีน้ำหนักเบากว่าผนังอิฐมอญถึง 5 เท่า และมีค่าการต้านทานความร้อนสูงกว่า ค่าการรับแรงอัดเทียบเท่าอิฐมอญ รวมถึงมีน้ำหนักเบา ขนส่งและติดตั้งได้สะดวก เป็นวัสดุสามารถรีไซเคิลได้ จึงเลือกใช้ประโยชน์จากท่อพีวีซีมาประกอบเป็นแผ่นผนังสำเร็จรูป
“รูปแบบและพื้นที่ใช้สอยของที่พักฉุกเฉินถอดประกอบได้นี้ ใช้ระบบประสานทางพิกัดหรือระบบโมดูลาร์ (Modular Coordination) เพื่อให้ง่ายต่อการขยายพื้นที่ การผลิต-ประกอบ และรื้อถอน โครงสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปต่าง ๆ ถูกยึดกันด้วยน๊อต โดยมีชุดชิ้นส่วนสำเร็จรูปหลัก คือ ชุดชิ้นส่วนด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ชุดชิ้นส่วนพื้น ชุดชิ้นส่วนฝ้าเพดาน ชุดชิ้นส่วนหลังคา และชุดชิ้นส่วนผนังสำเร็จรูปจากท่อพีวีซี
สำคัญตรงที่…ที่พักฉุกเฉินสำเร็จรูปนี้ สามารถเพิ่มขยายตามจำนวนผู้พักอาศัยและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สอยและดัดแปลงได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นที่พักอาศัยหลับนอน ใช้เป็นห้องน้ำ ห้องสุขา ใช้เป็นศูนย์สถานพยาบาลเคลื่อนที่ ใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่น้ำท่วม (เพิ่มฐานด้วยถังน้ำมัน) หรือใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวได้”
อย่างไรก็ตาม ที่พักฉุกเฉินสำเร็จรูปถอดประกอบได้ มีน้ำหนักประมาณ 750 กิโลกรัมต่อหลัง สามารถประกอบติดตั้ง และรื้อถอนได้ด้วยแรงงานคนเสร็จได้ภายในหนึ่งวัน งบประมาณต่อหลังประมาณครึ่งแสน
สุดยอดนวัตกรรมนี้ มีรางวัลผลงาน The 4th Top Ten Innovation Awards และรางวัล CDAST DESIGN AWARDS 2014 ระดับดี ผลงานสร้างสรรค์ดีเด่นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย การันตีและกำลังอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตร
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ